- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 18 January 2015 08:41
- Hits: 3040
กรมโรงงานล้อมคอกไฟไหม้-มลพิษ เล็งแก้กม.เพิ่มโทษพวกมักง่าย
แนวหน้า : นายศักดา พันธ์กล้า รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีเหตุเพลิงไหม้โรงงานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ดังนั้นกรมโรงงานฯ จึงได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดออกไปเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโรงงานโดยเฉพาะระบบป้องกันเพลิงไหม้ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่อาจมี่ได้เข้มงวดในเรื่องนี้ แต่หลังจากนี้ทุกโรงงานที่เข้าข่ายมีความเสี่ยงในการเกิดอัคคีภัยจะต้องทำตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยจะต้องมีเครื่องดับเพลิงแบบมือถือทุนทุกๆระยะห่างไม่เกิน 20 เมตร ให้อยู่สูงจากพื้นไม่เกินกว่า 1.50 เมตร และให้โรงงานจัดเตรียมน้ำสำหรับดับเพลิงให้กับอุปกรณ์ฉีดน้ำดับเพลิงได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 นาที
นอกจากนี้ ในโรงงานที่มีสถานที่จัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ติดไฟได้ และมีพื้นที่ต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่ 1 พันตารางเมตรขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติให้ครอบคลุมพื้นที่นั้น รวมทั้งในส่วนของพื้นที่อาคารโรงงานที่มีความเยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูงและปานกลาง ที่มีสถานที่จัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ติดไฟได้ ต้องแยกพื้นที่จากส่วนอื่นของอาคารด้วยวัสดุทนไฟไดไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ขณะที่อาคารโรงงานเดี่ยวที่เป็นโครงเหล็กจะต้องหุ้มด้วยวัสดุทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ถ้าหลายชั้นต้องทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ส่วนเครื่องจักร อุปกรณ์ ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุไวไฟต้องต่อสายดิน และต้องมีเส้นทางหนีไฟที่ให้คนงานออกจากอาคาได้ภายใน 5 นาที
"ยอมรับว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่อาจมีการอะลุ่มอล่วยให้กับผู้ประกอบการไปบ้าง แต่หลังจากนี้จะทำการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และหลายโรงงานอาจจะต้องลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง หรือปรับปรุงโรงงานให้ได้มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งหากแจ้งเตือนแล้วยังไม่ทำการปรับปรุง ก็จะใช้มาตรการที่เข้มงวดต่อไป"นายศักดา กล่าว
สำหรับ การตรวจจับโรงงานที่ปล่อยมลพิษนั้น ในปี 2557 กรมโรงงานได้ตรวจพบโรงงงานที่ปล่อยมลพิษได้ทั้งสิ้น 150 โรงงงานและได้ใช้พ.ร.บ.โรงงาน มาตรา 37 สั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไข หรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งในจำนวนนี้มีอยู่ 7 โรงงานที่ ที่ได้สั่งให้หยุดประกอบกิจการ เนื่องจากไม่ปรับปรุงตามที่กำหนด หรือเกิดเหตุเพลิงไหม้จนอาจก่อให้เกิดอันตราย โดยสถิติการตรวจจับโรงงานที่ปล่อยมลพิษในปี 2557ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2556 ที่ได้สั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขตามมาตรตรา 37 จำนวน 164 ราย และถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการ 13 ราย
ทั้งนี้ มั่นใจว่าปัญหาโรงงานปล่อยมลพิษจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากภาวะการณ์แข่งขันที่รุนแรงเป็นตัวกดดันให้โรงงานต้องปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้ทันสมัย และปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการ ทำให้มีการปล่อยมลพิษ และขยะอุตสาหกรรมลดลงเรื่องๆจนถึงขั้นไม่ปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมเลย เพื่อลดต้นทุน และปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานขั้นสูงที่ประเทศคู่ค้ากำหนด รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ให้ความสำคัญเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการปัญหาเหล่านี้ และอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายเพิ่มโทษกับโรงงานที่ทำผิด
"การแพร่หลายของการสื่อสารผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ทำให้ข่าวสารการปล่อยของเสียจากโรงงานเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เป็นเบาะแสกับกรมโรงงานฯในการเข้าไปตรวจสอบ และเป็นตัวบีบบังคับให้โรงงานต้องระมัดระวังตัว ไม่สามารถแอบปล่อยมลพิษได้เหมือนในอดีต เพราะจะถูกเผยแพร่ความผิดได้โดยง่าย และถ้าหากถูกจับได้ว่าทำผิด ก็อาจจะกระทบต่อคำสั่งซื้อสินค้า เพราะทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในเรื่องของมาตรฐานสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ"นายศักดา กล่าว
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กนอ.ได้กำชับไปยังผู้ประกอบการแต่ละนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งทั่วประเทศ เตรียมพร้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณี หากเกิดภาวะฉุกเฉินในด้านต่างๆ โดยเฉพาะแผนการป้องกันด้านอัคคีภัยในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด เนื่องจากขณะนี้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้อากาศแห้งลมแรง อาจเกิดอัคคีภัยได้ง่าย
สำหรับ แผนปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ทุกนิคมอุตสาหกรรม จะต้องดำเนินการตรวจสอบระบบความปลอดภัยต่างๆ ภายในโรงงาน ระบบสัญญาณเตือนภัย ระบบขนส่งและเส้นทางเดินรถ (Logistics) ทางเข้า-ออก และการเตรียมความพร้อมทั้งด้านการสื่อสาร การอพยพคนงาน ตลอดจนจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีต่างๆที่ใช้ภายในโรงงานให้แก่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นฐานข้อมูล ซึ่งการเตรียมการป้องกัน ความพร้อม และมาตรการต่างๆก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ลดการสูญเสียหากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถร่วมกันบริหารจัดการได้อย่างทันท่วงที พร้อมกำชับทุกนิคมฯในการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินให้ปฏิบัติเสมือนจริง และหากเกิดเหตุขึ้นจริง ขอให้ปฏิบัติตามแผน จะช่วยลดการตื่นตระหนกได้
ทั้งนี้ กนอ. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. (IEAT Operation Center) หรือ EMC2@IEA-T ขึ้น ณ อาคารสำนักงานใหญ่ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่นิคมฯ ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และ ความปลอดภัย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน จะทำหน้าที่เป็นศูนย์วอร์รูม(Warroom) ติดตามสถานการณ์ แจ้งเตือนภัย บัญชาการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ ผ่านระบบประชุมทางไกล อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานกลางในการประสานไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ท้องถิ่นทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อขอความร่วมมือ บูรณาการช่วยเหลือ ระหว่างกันได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ