- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 15 January 2015 22:22
- Hits: 2788
เร่งหามาตรการเยียวยาชาวไร่อ้อย คณะทำงานฯขอเวลาเช็คข้อมูล
แนวหน้า :เร่งหามาตรการเยียวยาชาวไร่อ้อย คณะทำงานฯขอเวลาเช็คข้อมูล
สรุปก่อนปิดหีบเดือนเมษายน
คณะทำงานอ้อยน้ำตาล เร่งหาข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยภายในสัปดาห์หน้า หลังราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกร่วง พร้อมคาดปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิต 57/58 ที่ 102 ล้านตัน
นายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาความเดือดร้อนชาวไร่อ้อยฤดูการผลิตปี 2557/2558 เปิดเผยว่า เบื้องต้นคณะทำงานยังไม่มีข้อสรุปมาตรการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อย แต่ได้สั่งการให้เร่งศึกษาข้อมูล 6 ด้านภายในสัปดาห์หน้า เพื่อเยียวยาชาวไร่อ้อยได้อย่างเหมาะสม หลังจากต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับลดลงได้แก่ ปริมาณอ้อยแท้จริงที่สามารถผลิตได้ ค่าความหวานของอ้อย อัตราแลกเปลี่ยนในการซื้อขายน้ำตาลทราย ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก สถานะล่าสุดของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และแนวทางการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อย เพื่อให้การกำหนดราคาอ้อยและน้ำตาลทรายภายในประเทศสอดคล้องกับทิศทางตลาดโลก โดยมั่นใจว่ามาตรการช่วยเหลือจะมีความชัดเจนก่อนการปิดหีบอ้อยในเดือนเมษายนนี้
พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้หามาตรการเยียวยารูปแบบอื่น นอกเหนือจากที่ให้กองทุนอ้อยฯ กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่ดชดเชยส่วนต่างราคาอ้อย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจ่ายชดเชยอยู่ที่ 160 บาทต่อตันอ้อย ขณะที่ปัจจุบันราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิต 2557-2558 อยู่ที่ 900 บาทต่อตันอ้อย โดยกำหนดค่าความหวานของอ้อยที่จะได้รับการจ่ายชดเชยไว้ที่ 10 ซีซีเอส จากต้นทุนที่ชาวไร่อ้อยแจ้งต่อภาครัฐที่ 1,222 บาทต่อตันอ้อย ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่ารัฐบาลสามารถช่วยเหลือได้ด้วยวิธีการจ่ายเงินชดเชย หรือหาวิธีการใหม่ โดยอ้างอิงจากการช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตรชนิดอื่นที่ดำเนินการอยู่
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เปิดหีบอ้อยในวันที่ 1 ธันวาคม 2557 มีอ้อยเข้าหีบแล้วจำนวน 32 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 102 ล้านตัน จึงต้องจับตาดูอีกครั้งว่าจะได้ปริมาณอ้อยตามที่คาดการณ์หรือไม่
ด้านนายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศราคาอ้อยขั้นต้นที่ 900 บาทต่อตัน ชาวไร่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าอ้อย เช่นที่เคยดำเนินการมา โดยให้ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.)
“เราต้องการให้รัฐช่วยเหลือเงินค่าอ้อยให้คุ้มกับต้นทุน 900 บาทต่อตัน ต่ำไป ตอนนี้ต้นทุนอยู่ที่1,222 บาทต่อตัน หากพิจารณาตามศักยภาพการใช้หนี้ของกองทุนอ้อยฯขั้นต่ำที่เคยกู้เพื่อเพิ่มค่าอ้อยก็จะได้ 160 บาทต่อตัน” นายธีระชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าสถานการณ์ ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยราคาน้ำตาลทรายดิบเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 15 เซนต์ต่อปอนด์ มีแนวโน้มว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2557/58 จะต่ำกว่า 900 บาทต่อตัน จะเป็นปัญหาต่อกองทุนฯต้องหาเงินมาจ่ายคืนในส่วนนี้ จึงเป็นหน้าที่รัฐต้องพิจารณา
แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ควรประกาศราคาอ้อยขั้นต้น และเงินช่วยเหลือให้เร็วที่สุด มีความชัดเจนก่อนเปิดหีบอ้อย ยิ่งล่าช้าเท่าไหร่ ยิ่งทำให้รายย่อยไม่ได้รับเงินส่วนเพิ่ม เนื่องจากหัวหน้าโควตาที่ไปรับซื้ออ้อยให้กับโรงงานจะปั่นราคาอ้อยให้ต่ำ
นอกจากนี้ ยังเห็นว่ารัฐไม่ควรจะไปกำหนดระยะห่างที่ตั้งโรงงานน้ำตาลแต่อย่างใด ควรปล่อยให้เป็นกลไกเสรีแล้วรัฐใช้วิธีกำกับดูแลใบอนุญาต ที่จะดูเครื่องจักรว่าเหมาะสมหรือไม่จะดีกว่าเนื่องจากเอกชน เมื่อทำธุรกิจจึงไม่ควรจะไปห่วงว่าจะไปแย่งอ้อยกัน