- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 15 January 2015 22:21
- Hits: 2587
ภาวะเศรษฐกิจซึม บริโภค-ลงทุนลด การส่งออกไม่ฟื้น ฉุดเชื่อมั่นเอสเอ็มอี
แนวหน้า : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index: TSSI) ประจำเดือนพฤศจิกายน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2557 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการลดลงอยู่ที่ 45.7 จากระดับ 49.6 (ลดลง 3.9) ผลจากการลดลงของดัชนีภาคการค้าส่ง ค้าปลีกและภาคบริการ ซึ่งอยู่ที่ 47.7 44.1 และ 46.7 จากระดับ 49.0 48.7 และ 51.0 (ลดลง 1.3 4.6 และ 4.3) ตามลำดับ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศยังคงซึมตัว ผลจากระดับราคาสินค้าเกษตรยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลง การส่งออกมีความผันผวนจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ
ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 58.5 จากระดับ 57.9 (เพิ่มขึ้น 0.6)โดยภาคค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 59.9 และ 57.6 จากระดับ 59.1 และ 56.2 (เพิ่มขึ้น 0.8 และ 1.4) ตามลำดับ ส่วนภาคค้าส่ง ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 57.1 จากระดับ 58.6 (ลดลง 1.5) สำหรับความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่71.5จากระดับ 68.0 (เพิ่มขึ้น 3.5) ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 81.0 จาก 83.1(ลดลง 2.1) อย่างไรก็ดีค่าดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับที่เกินกว่าค่าฐานคือ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการ SMEsมีความเชื่อมั่นว่าการประกอบธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้น
ปัจจัยบวกสำคัญมาจากราคาขายปลีกน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลดีต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ SMEs ขณะเดียวกัน จะกระตุ้นให้เกิดการใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป สถานการณ์ค่าครองชีพเริ่มดีขึ้น เห็นได้จากดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 107.19 ลดลงจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ 107.32 สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการเร่งรัดโครงการลงทุนของภาครัฐ ทำให้มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจก่อให้เกิดการจ้างงานและการบริโภค คึกคักมากขึ้น
เมื่อพิจารณาดัชนีคาดการณ์รายภาคธุรกิจพบว่าภาคค้าปลีก กิจการสถานีบริการน้ำมัน ค่าดัชนีคาดการณ์เพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 65.0 จากระดับ 58.8 (เพิ่มขึ้น 12.1) เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน 95 ซึ่งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน มีราคาอยู่ที่ 40.76 บาทต่อลิตร ลดลง 2.10 บาทต่อลิตร และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ภาคบริการพบว่ากิจการร้านอาหาร/ภัตตาคาร ดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 61.4 จากระดับ 51.9 (เพิ่มขึ้น 9.5) ผลจากสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเดือนพฤศจิกายนมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 2.44 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.53% เมื่อเที่ยบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2