- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 18 June 2024 00:37
- Hits: 9343
กระทรวง อว. โดย สอวช. เผย อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตของไทยมีโอกาสเติบโตสูง ชี้ต้องขับเคลื่อนต่อยอด R&D เตรียมพร้อมพัฒนากำลังคน พัฒนาตลาด ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
นางสาวสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “ภาพรวมการผลิตอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ในประเทศไทย โดยเฉพาะโปรตีนทางเลือก และแนวโน้มของตลาดโลก” ในงาน TJRI Business Networking (Future Food) จัดโดย โครงการศูนย์วิจัยการลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย (Thai – Japanese Investment Research Institute: TJRI) ร่วมกับ สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย (Thai Future Food Trade Association) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ณ ห้องประชุม อาคารเคเอกซ์ (KX Building) ชั้น 10
นางสาวสิรินยา กล่าวถึงความจำเป็นของการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารอนาคต ที่แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ตอบสนองสังคมสูงอายุ ลดภาระทางการแพทย์ ต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยส่งออกอาหารเป็นอันดับที่ 14 ของโลก ซึ่ง Future Food คิดเป็น 10% และ 57% ของผู้บริโภคทั่วโลกสนใจเกี่ยวกับสุขภาพ 2. สร้างความมั่งคงทางอาหารท่ามกลางวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามเป้าหมายของไทยที่ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHGs emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 และ 3. สร้างความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีและส่งเสริมสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep-Tech Startup) ซึ่งประเภทของอาหารอนาคตไทย โดยเฉพาะในกลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) อาทิ กลุ่มแมลงกินได้ รวมถึงโปรตีนจากนวัตกรรม เช่น เนื้อจากพืช ซึ่งรวมมีมูลค่าการส่งออก 6,500 ล้านบาท มูลค่าตลาดในประเทศถึง 43,500 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโต 8% ต่อปี
นางสาวสิรินยา ยังชี้ให้เห็นถึงผลสำรวจแนวโน้มและทิศทางการบริโภคอาหารของผู้บริโภคไทย จากงานวิจัยของ Madre Brava ในปี ค.ศ. 2023 พบว่า 67% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพสัตว์ ขณะเดียวกันการลดกินเนื้อสัตว์ ทดแทนด้วยโปรตีนทางเลือกก็จะต้องมีราคาถูกลงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้ งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าโปรตีนจากพืชเป็นโอกาสสำคัญทางภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับหนึ่งของสหภาพยุโรป ตลาดส่งออกของไทยจะต้องมีมาตรการทางการค้าในเรื่องนี้ ต้องมองไปข้างหน้าและลงทุนทั้งการวิจัยและส่งเสริมเกษตรกรเพื่อให้เป็นหนึ่งในผู้นำด้านอาหารยั่งยืน และทำให้เกษตรกรรายย่อยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนผ่านนี้ด้วย
สำหรับกรอบแนวคิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทย นางสาวสิรินยา แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. การต่อยอดอุตสาหกรรม Future Food ผ่านการดึงดูดการลงทุนกลางน้ำทั้งจากในและนอกประเทศ สร้างกลไก บริษัทธุรกิจเกษตร (Producer Company) พร้อมทั้งสนับสนุนการแปรรูปขั้นต้นและตรวจวัดคุณภาพ 2. การต่อยอดการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของ Future Food มีการพัฒนา R&D ครบวงจร สร้างสตาร์ทอัพกลุ่ม Future Food และพัฒนาทักษะกำลังคนตอบโจทย์อุตสาหกรรม และ 3. การพัฒนาการตลาด Future Food ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เช่น เทศกาลกินเจ ในปี พ.ศ. 2566 มีนักท่องเที่ยว 42,026 คน สร้างมูลค่าเงินสะพัดมากกว่า 44,500 ล้านบาท
ภายในงานยังมีการบรรยายในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กฎระเบียบการส่งออกอาหารโปรตีนทางเลือกไปยังประเทศญี่ปุ่น เทรนด์อาหารสุขภาพในญี่ปุ่น มุมมองของผู้บริโภคญี่ปุ่นที่มีต่อโปรตีนทางเลือกแต่ละชนิด รวมถึงเทคนิคการเข้าถึงผู้ซื้อฝั่งญี่ปุ่น และได้มีการจัดเวทีเสวนาแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “ศักยภาพการผลิตอาหารแห่งอนาคต (Future food) ของไทย โดยเฉพาะการผลิตและประสบการณ์การส่งออกโปรตีนทางเลือกแต่ละชนิดไปประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งศักยภาพการผลิตอาหารแห่งอนาคตอื่นๆ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารทางการแพทย์” รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้มีพื้นที่พบปะพูดคุยกันถึงแนวทางการขับเคลื่อนและสร้างความร่วมมือเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารอนาคตในแง่มุมต่างๆ ทั้งในภาคธุรกิจและภาคนโยบายด้วย
6496