- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 11 January 2024 14:18
- Hits: 3576
เอกชนเฮ! ก.อุตฯ ปลดล็อค โซล่ารูฟท๊อป ลดค่าไฟ ดันพลังงานสะอาด มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
กระทรวงอุตสาหกรรม รับลูก ‘เศรษฐา’สนับสนุนพลังงานสะอาด เดินหน้าปลดล็อคการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ส่งเสริมการให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจใช้พลังงานสะอาด มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน คาดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/ เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเดินหน้าแก้ไขกฎหมายปลดล็อคให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอีกต่อไป ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขกฎกระทรวง คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567
โดยการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาล โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มี นโยบายผลักดันให้ทุกภาคส่วนใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เพื่อยกระดับระบบพลังงานไฟฟ้าไทยให้มีความเสถียร ยั่งยืน เป็นพลังงานสะอาดและราคาถูก
ซึ่งจะเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะตอบสนองกติกาสากลและช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรง จากต่างประเทศ (FDI) ให้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศแบบ ‘ซีโร่คาร์บอน’ และนโยบาย ‘อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน’ ของ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างบรรยากาศในการลงทุน
และเน้นย้ำเรื่องการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนให้มากที่สุด นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานข้อมูลกับภาคเอกชน อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคศูนย์การค้า ภาคโรงแรม และภาคบริการ พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
ในขณะที่ต้นทุนการติดตั้ง โซล่าเซลล์มีราคาที่ถูกลง ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่ประสงค์จะติดตั้งระบบ ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) เป็นจำนวนมาก เช่น อาคารโรงงาน ศูนย์การค้า โรงแรม มหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งตามกฎหมายโรงงานเดิมกำหนดว่าการติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ หรือ 1 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการผลิต โซล่าเซลล์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณมากโดยใช้จำนวนแผงเซลล์ แสงอาทิตย์หรือพื้นที่ติดตั้ง ลดลงกว่าเดิมถึง 2.7 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2557
อีกทั้ง ยังมีมาตรฐานควบคุม ด้านความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “การปลดล็อคดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจจากการติดตั้ง Solar Rooftop ได้ง่ายขึ้น ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น
นับเป็นการ ผลักดันให้ผู้ประกอบการเกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจอย่างสมดุลและยั่งยืนใน 4 มิติ ทั้งด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่างๆ ส่งเสริมการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) การได้รับการยอมรับจากสังคม ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สู่อุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อโอกาสทางธุรกิจตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก
และการกระจายรายได้สู่ชุมชนจากการขยายตัวของธุรกิจติดตั้งโซล่าเซลล์ อีกทั้ง การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดดังกล่าว จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) ของประเทศไทย ต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย MIND ใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน”ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย