WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2557 (กรกฎาคม-กันยายน 2557)(อุตสาหกรรมยานยนต์)

   อุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 หดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจาก สภาพเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว ประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง และการปรับตัวสู่สมดุลหลังจากสิ้นสุดโครงการณ์รถยนต์คันแรก

     *สถานการณ์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี2557 มีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวม 45 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวมกว่า 29,788.40 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 6,175 คน  ในจำนวนนี้มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 4 โครงการ คือ 1) โครงการของบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับ  การส่งเสริมให้ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR) มีกำลังการผลิต 158,000 คัน และชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น ฝากระโปรง หลังคา และประตู เป็นต้น มีกำลังการผลิต 200,000 ชิ้น  มีเงินลงทุน 9,727.50 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 2,347 คน 2) โครงการของบริษัท  อีซูซุเอ็นยิ่น แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซล มีกำลัง การผลิต 185,000 เครื่อง มีเงินลงทุน 5,132.90 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 214 คน 3) โครงการของบริษัท โตโยโตมิ ออโต้ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูปสำหรับยานพาหนะ และขอเพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์ คือ แม่พิมพ์ มีเงินลงทุนรวมกัน 2,467.60 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย  260  คน  4) โครงการของบริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตหม้อน้ำรถยนต์ (RADIATOR) และชิ้นส่วนหม้อน้ำรถยนต์ เช่น CORE, TUBE, TANK และ BLOWER เป็นต้น และขอเพิ่มกำลังการผลิตเฉพาะผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนหม้อน้ำรถยนต์ เช่น CORE, TUBE, TANK และ BLOWER เป็นต้น มีเงินลงทุนรวมกัน 1,315.70 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 190 คน (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.boi.go.th)

     อุตสาหกรรมรถยนต์โลก (รวบรวมข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 จาก FOURIN)

    อุตสาหกรรมรถยนต์โลกในช่วงสามเดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.-มี.ค.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 21,061,849 คัน  เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 4.18 แบ่งเป็นการผลิต รถยนต์นั่ง 15,813,779 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 5,248,070 คัน  เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 4.19 และ 4.12 ตามลำดับ จากข้อมูลของประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น พบว่า จีนมีการผลิตรถยนต์ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2557 จำนวน 5,890,911 คัน  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.97 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งโลก สหรัฐอเมริกามีการผลิตรถยนต์ ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2557 จำนวน 2,906,117 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.80 ของปริมาณ การผลิตรถยนต์ทั้งโลก และญี่ปุ่นมีการผลิตรถยนต์ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2557 จำนวน 2,587,710 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.29 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งโลก

     *การจำหน่ายรถยนต์โลกในช่วงสามเดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.-มี.ค.) มีการจำหน่ายรถยนต์ 20,526,303 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 4.07  แบ่งเป็นการจำหน่าย  รถยนต์นั่ง 15,339,009 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 4.50 และการจำหน่ายรถยนต์ เพื่อการพาณิชย์ 5,183,733 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 2.74 เมื่อพิจารณาประเทศผู้จำหน่ายที่สำคัญพบว่า จีนมีการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2557 จำนวน 5,921,854 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.85 ของปริมาณจำหน่ายรถยนต์ทั้งโลก สหรัฐอเมริกามีการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2557 จำนวน 3,812,317 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.57 ของปริมาณจำหน่ายรถยนต์ทั้งโลก และญี่ปุ่นมีการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2557 จำนวน 1,844,657 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.99 ของปริมาณจำหน่ายรถยนต์ทั้งโลก

อุตสาหกรรมรถยนต์

     การผลิต ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 (ก.ค.-ก.ย.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 456,435 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณ  การผลิตรถยนต์ 589,299 คัน ร้อยละ 22.55 โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 177,180 คัน รถยนต์ปิกอัพ  1 ตันและอนุพันธ์  274,066 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ  5,189 คัน ลดลงร้อยละ 31.52, 13.13 และ 65.55 ตามลำดับ

    สำหรับ ปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก 280,380 คัน คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 61.43 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด โดยแบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 100,239 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.75  และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 180,141 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.25 หากพิจารณาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 เปรียบเทียบกับ ไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.88 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง  รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ  เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.02, 3.05 และ 58.64 ตามลำดับ

      การจำหน่าย ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 (ก.ค.-ก.ย.) มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ 207,239 คัน  ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ 293,492 คัน ร้อยละ 29.39 โดยเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 89,743 คัน รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน 86,752 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 12,357 คัน ลดลงร้อยละ 38.45, 21.16 และ 37.09 ตามลำดับ แต่มีการจำหน่ายรถยนต์ PPV (รวมรถยนต์ SUV) 18,387 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.03 หากพิจารณาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณ การจำหน่ายรถยนต์ลดลงร้อยละ 4.38 โดยมีการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์ PPV (รวมรถยนต์ SUV) ลดลงร้อยละ 3.95, 2.39 และ 19.00 ตามลำดับ แต่การจำหน่ายรถยนต์  เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.31

      การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557(ก.ค.-ก.ย.) มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ (CBU) จำนวน 278,905 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของ  ปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการส่งออกรถยนต์ 306,737 คัน คิดเป็นร้อยละ 9.07 โดยมีมูลค่าการส่งออก130,392.35 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์  140,798.21 ล้านบาท ร้อยละ 7.39 หากพิจารณาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.86  และเมื่อคิดเป็นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.64

    จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งของไทยในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่า 143,093.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 1.50 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถยนต์นั่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 19.46, 15.01 และ 12.14 ตามลำดับ  โดยการส่งออกรถยนต์นั่งไปฟิลิปปินส์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.57 แต่การส่งออกรถยนต์นั่งไปออสเตรเลียและอินโดนีเซียมีมูลค่าลดลงร้อยละ 21.96 และ 36.31 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกรถแวนและปิกอัพของไทยในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่า 10,575.86 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 5.86 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถแวนและปิกอัพ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย  คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 54.66, 17.36 และ 7.87 ตามลำดับ  โดยการส่งออกรถแวนและปิกอัพไปญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 41.11 แต่การส่งออกรถแวนและรถปิคอัพไปอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย  เพิ่มขึ้นร้อยละ 96,111.08 และ 57.25  ส่วนมูลค่าการส่งออกรถบัสและรถบรรทุกของไทย ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่า 247,149.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 4.12 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถบัสและรถบรรทุก ได้แก่ ออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย และมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 22.14, 11.73 และ 4.42 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถบัสและรถบรรทุกไปซาอุดิอาระเบียและมาเลเซีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.86 และ 31.01 ตามลำดับ แต่การส่งออกรถบัสและรถบรรทุกไปออสเตรเลียมีมูลค่าลดลงร้อยละ 7.14

    การนำเข้า จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัด กระทรวงพาณิชย์ พบว่า การนำเข้ารถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 (ก.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้ารถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก คิดเป็นมูลค่า 8,717.19 และ 3,577.55 ล้าน บาท ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า การนำเข้ารถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ลดลงร้อยละ 9.77  และ 22.78 ตามลำดับ หากพิจารณาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การนำเข้ารถยนต์นั่งลดลงร้อยละ 19.06 แต่รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.10

                แหล่งนำเข้ารถยนต์นั่งที่สำคัญในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2557 ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 29.12, 20.09 และ 19.46 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์นั่งจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.41 และ 94.65  ตามลำดับ แต่การนำเข้ารถยนต์นั่งจากญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 5.65 ส่วนแหล่งนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 27.15, 14.83 และ 13.62 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกจากอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.49  แต่การนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกจากญี่ปุ่นและเยอรมนีลดลงร้อยละ 17.00 และ 47.70 ตามลำดับ

สรุปและแนวโน้มรถยนต์

      อุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 มีปริมาณการผลิตหดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว ประกอบกับหนี้ ภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง และการปรับตัวสู่สมดุลหลังสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรก  สำหรับการส่งออกรถยนต์หดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

  สำหรับ อุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 เนื่องจากเป็นฤดูกาลขายรถยนต์ ทำให้บริษัทรถยนต์แต่ละค่ายจัดส่งเสริมการตลาดประกอบกับการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ เพื่อกระตุ้นตลาดในประเทศ โดยข้อมูลจากแผน  การผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์ ประมาณว่า ในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 550,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 46 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 54

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์

     การผลิต ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557  (ก.ค.-ก.ย.) มีจำนวน 426,607 คัน ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณ การผลิตรถจักรยานยนต์ 552,296 คัน  ร้อยละ 22.76 โดยแบ่งเป็นการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 342,424 คัน ลดลงร้อยละ 26.24  และการผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 84,183 คัน ลดลงร้อยละ 4.40 หากพิจารณาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา  มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 9.16 โดยมีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต ลดลงร้อยละ 10.07 และ 5.25 ตามลำดับ

     การจำหน่าย ตลาดรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 (ก.ค.-ก.ย.)มีจำนวน 446,857 คัน ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณ การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ 492,120 คัน ร้อยละ 9.20 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 228,408 คัน ลดลงร้อยละ 2.97 การจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์ 166,491 คัน ลดลงร้อยละ 22.49 แต่การจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 51,958 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.98  หากพิจารณาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.20 โดยมีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.67 และ 7.30 ตามลำดับ แต่การจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์ ลดลงร้อยละ 3.69

     การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) ของประเทศไทย ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 (ก.ค.-ก.ย.) จำนวน 225,752 คัน (เป็นการส่งออก CBU จำนวน 69,956 คัน และ CKD จำนวน  155,796 ชุด) เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ 222,853 คัน ร้อยละ 1.30 หากคิดเป็นมูลค่าการส่งออกมีมูลค่า การส่งออกรถจักรยานยนต์ 10,679.30 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 12,798.31 ล้านบาท ร้อยละ 16.56 หากพิจารณาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.24 หากคิดเป็นมูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 8.00

     จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ของไทยในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่า 26,108.27 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 7.30 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถจักรยานยนต์ ได้แก่  สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 14.27, 13.36 และ 9.07 ตามลำดับ  โดยการส่งออกรถจักรยานยนต์ไปสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอินโดนีเซีย  มีมูลค่าลดลงร้อยละ 12.22 15.84 และ 37.67 ตามลำดับ

    การนำเข้า จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการนำเข้ารถจักรยานยนต์ของไทยในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่า 3,402.35  ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 22.08 เมื่อพิจารณาในช่วง   ไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 (ก.ค.-ก.ย.)  มีการนำเข้ารถจักรยานยนต์ มีมูลค่า 1,262.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการนำเข้ารถจักรยานยนต์ 731.85 ล้านบาท ร้อยละ 72.55 หากพิจารณาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การนำเข้ารถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.42 แหล่งนำเข้ารถจักรยานยนต์ที่สำคัญในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2557 ได้แก่ เวียดนาม ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า  ร้อยละ 57.20, 18.54 และ 6.07 ตามลำดับ โดยมีการนำเข้ารถจักรยานยนต์จากเวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ  39.96 และ 6.64 ตามลำดับ  แต่การนำเข้ารถจักรยานยนต์จากญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 217.29

สรุปและแนวโน้มรถจักรยานยนต์

      อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 การผลิตรถจักรยานยนต์หดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญเนื่องจากความต้องการของตลาดในประเทศลดลง ซึ่งสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศและหนี้ภาคครังเรือนที่อยู่ระดับสูง

    อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 คาดว่าจะชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 โดยข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ ประมาณการว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 460,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 83 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 17

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

     การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 (ก.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 50,174.90 ล้านบาท ลดลง  เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 1.55 การส่งออกเครื่องยนต์ มีมูลค่า 7,710.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 8.78 และการส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ 5,520.29 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 1.91 หากพิจารณาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.40, 0.96 และ 1.98 ตามลำดับ

      จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของไทยในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่า 189,078.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 14.46 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 13.02, 12.57 และ 11.34 ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ไปญี่ปุ่น และมาเลเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.43 และ 10.01 ตามลำดับ แต่การส่งออกไปอินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 0.73

     การส่งออกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 (ก.ค.-ก.ย.)  มีมูลค่า 1,275.61 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 15.82 การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์   มีมูลค่า 274.07 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 6.88 หากพิจารณาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) ลดลงร้อยละ 0.20 แต่การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.75

     จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ของไทยในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่า 17,113.59 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 7.84 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ได้แก่ บราซิล กัมพูชา และอินโดนีเซีย  คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 18.94, 13.69 และ 11.29 ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ไปบราซิลและ กัมพูชา เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.62 และ 25.62 ตามลำดับ แต่การส่งออกไปอินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 9.96

    การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของประเทศไทยในช่วงในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่า 220,199.48 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับ  ช่วงเดียวกันของ  ปีที่แล้ว ร้อยละ 22.52 เมื่อพิจารณาในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 (ก.ค.-ก.ย.)  มีมูลค่า 72,461.93 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 19.21  หากพิจารณาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.93 แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ที่สำคัญในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2557  ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา  คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 42.17, 14.72 และ 5.82 ตามลำดับ  โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์จากญี่ปุ่น และจีน ลดลงร้อยละ 36.09 และ 2.05 ตามลำดับ แต่การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ จากสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.71

     การนำเข้าชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ฯ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ ของประเทศไทยในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่า 12,339.41 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 11.39  เมื่อพิจารณาในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 (ก.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 4,048.49 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 7.26 หากพิจารณาในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.86 แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ ที่สำคัญในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2557  ได้แก่ ญี่ปุ่น  จีน  และเวียดนาม  คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า ร้อยละ 28.06, 19.34 และ 11.05 ตามลำดับ โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ จากญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 35.31 แต่การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ จากจีน และเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.18 และ 16.37 ตามลำดับ

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!