WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2557 (กรกฎาคม -กันยายน 2557)(อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

    ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2557 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 286.40 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีความต้องการนำไปใช้ในอุปกรณ์สื่อสารมากขึ้น  ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 3.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศลดลง และผู้บริโภคมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

   การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2557 มีมูลค่า 14,294.18 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.96  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.51 และ 6.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

   ในไตรมาส 4/2557 คาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.98 เนื่องจากความต้องการ Semiconductor และ IC เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.24 เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

การผลิต

    ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 3/2557 (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 1) มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 286.40 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.98 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  โดยสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด ได้แก่ Semiconductor Monolithic IC Other IC  และ HDD  ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 16.94 7.96 และ 3.77 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องในการใช้ผลิตในอุปกรณ์สื่อสาร  และในส่วนของ HDD ได้เริ่มย้ายคำสั่งซื้อกลับมาผลิตในประเทศมากขึ้น หลังจากสถานการณ์ในประเทศดีขึ้น ขณะที่ในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 9.98 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน โดยสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน  คอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิต และคอมเพรสเซอร์ ลดลงร้อยละ 16.49  19.43 และ 10.83 ตามลำดับ เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อรองรับสารทำความเย็นใหม่  R 32  หรือ R 410a  ทำให้การผลิตชะลอตัวลง

    นอกจากนี้ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.91  โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์  ได้แก่ Semiconductor  Monolithic IC Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.73 40.32 และ 16.47 ตามลำดับ  เนื่องจากมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนใน Smartphone  (คาดว่าในปี 2557 ความต้องการ Smart phone ในตลาดโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 1 และในไตรมาส 2/2557 การจำหน่าย Smartphone ในตลาดโลกอยู่ที่ 301.3 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) และอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ เช่น Bluetooth  หน้าจอ Touch Screen  และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer Electronics) ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีการเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

  สำหรับ อุตสาหกรรม HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 2 หลังจากปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง เพราะมีความต้องการในการนำไปใช้ใน Cloud Storage ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านวิดิทัศน์ ภาพ/เสียง (Content Generation),External HDD และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ (Consumer Electronics)  ทั้งนี้ Forbe  คาดว่าความต้องการ HDD ในปี 2557 จะปรับตัวลดลงร้อยละ 1.5  เมื่อเทียบกับปีก่อน 3  โดยเป็นการปรับตัวลดลงในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2556 ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.3  เมื่อเทียบกับปีก่อน

    ทั้งนี้  Semiconductor Industry Association รายงานว่าการจำหน่าย  Semiconductorของโลกในไตรมาส 3/2557 มีมูลค่า 87 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.70 เมื่อเทียบกับ  ไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เอเชียแปซิฟิก สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.35 11.35 และ 7.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้นญี่ปุ่นปรับตัวลดลงร้อยละ 0.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

    นอกจากนี้ จากการรายงาน Semiconductor Industry Association 4(SIA) ของสหรัฐอเมริกาได้มีการปรับตัวเลขการคาดการณ์ Semiconductor ในตลาดโลกใหม่ให้สูงขึ้นกว่าเดิมมาอยู่ที่ร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน (เดิมคาดการณ์ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.1)  เนื่องจากสหภาพยุโรปและเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะมีการขยายตัวได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมที่คาดการณ์ไว้ โดยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 และ 9.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ  แต่ในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นได้มีการปรับตัวเลขการคาดการณ์ลดลง คือ สหรัฐอเมริกาจะขยายตัวเหลือเพียงร้อยละ 2.1 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 6.5  ขณะที่ญี่ปุ่นคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 1.3 จากเดิมจะขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน

    อุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 3.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีการผลิตลดลงเกือบทุกตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน คอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์  ลดลงร้อยละ 5.31 2.39  และ 7.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต  เพื่อรองรับสารทำความเย็นใหม่ R 32 หรือ R 410a  ทำให้การผลิตชะลอตัวลง  ประกอบกับตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกปรับตัวลดลง  ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ตู้เย็น ลดลงร้อยละ 1.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 11.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตในประเทศหลายรายได้ย้ายฐานการผลิตหรือมีฐานการผลิตในประเทศในแถบอาเซียน

การตลาดและการจำหน่าย การจำหน่ายในประเทศ

    ภาวการณ์จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในไตรมาส 3/2557 ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต  เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ พัดลม เครื่องซักผ้า และเตาไมโครเวฟ ลดลงร้อยละ 38.49  37.25  5.33 33.79  9.41 และ 6.79 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ยกเว้น ตู้เย็น  กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และสายไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.37 6.84  13.12 และ 1.26 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

   ภาวะการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต  เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิตพัดลม เครื่องซักผ้า ตู้เย็น กระติกน้ำร้อน และหม้อหุงข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.82  19.80 8.97  0.29  8.37 35.22 และ 16.68  ตามลำดับ  ยกเว้นคอมเพรสเซอร์ เตาไมโครเวฟ และสายไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 7.35  19.03 และ 7.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออก

  การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส3/2557 มีมูลค่า 14,294.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.96  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นทุกตลาด ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีนสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ  6.49  2.24  5.32  8.51  และ 2.86  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

  การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 3/2557 มีมูลค่า  5,757.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.05 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  โดยการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ  1.91  10.37  3.75 และ  16.41  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามลำดับ ยกเว้นสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.36  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่มีการปรับตัวลดลง เช่น  เครื่องปรับอากาศ  มีมูลค่าการส่งออก 807.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ  29.24  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยเฉพาะการส่งออกไปสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงถึงร้อยละ 42.45  67.87 และ 45.06  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน รองลงมาคือ ตู้เย็น มีมูลค่าการส่งออก 380.99  ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ  3.12 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  จากการที่การส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวลดลงทุกตลาด โดยเฉพาะอาเซียนและญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ  6.05 และ 11.82 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

  อย่างไรก็ตาม การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ  2.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน จีน  และสหรัฐอเมริกา  เพิ่มขึ้นร้อยละ  6.53  3.13  และ 20.29 ตามลำดับ  ยกเว้นสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ที่มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 4.99 และ 5.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น  เช่น เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม (ฟิวส์ สวิตช์ ปลั๊ก socket) มีมูลค่าการส่งออก 628.64  ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  จากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาเซียน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.04  และ 30.23  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

   การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2557 มีมูลค่า 8,536.83 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.51 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  ซึ่งตลาดหลักทุกตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ  5.93  9.86  17.78  3.37 และ 6.46  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  ตามลำดับ  สำหรับสินค้าหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น  คือ  อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าการส่งออก 4,705.04  ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.75 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่  อาเซียน  สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.16  9.41 12.49 และ 22.49  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามลำดับ  ยกเว้นสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลงร้อยละ 3.34  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน   รองลงมา คือ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี มีมูลค่าการส่งออก  2,103.26 ล้านเหรียญสหรัฐ  เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.94  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  โดยการส่งออกไปอาเซียน จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.45  31.57  และ 16.01  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามลำดับ

     สำหรับ การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด ได้แก่  อาเซียน สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น  เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.46  6.50  6.45  3.59  และ 14.81  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ตามลำดับ โดยสินค้าหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น  คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์  มีมูลค่าการส่งออก 4,705.04  ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.24  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยส่งออกไปสหภาพยุโรป จีน  สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น  เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.45  1.76  5.38 และ 64.42 ตามลำดับ   รองลงมา คือ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี มีมูลค่าการส่งออก  2,103.26  ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.75  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยตลาดที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ จีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การนำเข้า

    การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2557  มีมูลค่า 11,190.78  ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.11  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.30  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยแหล่งนำเข้าหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.04  8.03 และ 12.71  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้นการนำเข้าจีน ลดลงร้อยละ 3.22  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

   การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 3/2557  คิดเป็นมูลค่า 4,461.81 ล้านเหรียญสหรัฐ  เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน  แต่ลดลงร้อยละ 0.59  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน   แหล่งนำเข้าหลักที่ปรับตัวลดลง  ได้แก่  จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 3.58  1.24 และ 9.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ตามลำดับ ยกเว้นการนำเข้าจากอาเซียน และสหภาพยุโรป ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.74  และ 8.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน  โดยสินค้าหลักที่ปรับตัวลดลง เช่น ส่วนประกอบเครื่องรับโทรทัศน์  มีมูลค่าการนำเข้า  446.82  ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 9.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  รองลงมา คือ เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น มีมูลค่าการนำเข้า 143.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.49  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

                การนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2557 มีมูลค่า 6,728.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.03  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.20  17.89  และ 5.36  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ตามลำดับ สินค้าหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น  คือ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี  มีมูลค่าการนำเข้า 2,572.92  ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนำเข้าจากจีน  สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.98 21.71 และ 6.62  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ  รองลงมา คือ  เครื่องโทรศัพท์สำหรับเครือข่ายเซลลูลาร์/เครือข่ายไร้สายอื่นๆ มีมูลค่าการนำเข้า  737.79  ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนำเข้าจากจีนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.84 และ  89.55  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 3/2557

    อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2557 ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 4.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 5.91  ซึ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกตัวปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ Semiconductor และ IC  เนื่องจากการเติบโตของตลาดในกลุ่ม  Smart Phone / Tablet  กลุ่มอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ (Communication system) และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer Electronics) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคำสั่งซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย รวมถึงการผลิต HDD ในไตรมาส 3/2557 มีการขยายตัวเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่อยู่ในภาวะชะลอตัวมาอย่างมาต่อเนื่องจากความต้องการในการนำไปใช้ในกลุ่ม Cloud Storage  ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านวิดิทัศน์ ภาพ/เสียง (Content Generation),External HDD เพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตมีความเชื่อมั่นการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น

   อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไฟฟ้าอยู่ในภาวะชะลอตัวลดลงร้อยละ 3.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศลดลงมาอย่างต่อเนื่อง  และผู้บริโภคในประเทศมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง  ร้อยละ 2.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 4/2557

  อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2557 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.78 โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.98เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการ Semiconductor และ IC เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.24  เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

                สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!