- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 15 September 2023 21:41
- Hits: 3077
กระทรวงอุตฯ โชว์ผลสำเร็จโครงการโอปอยซี ปี’66 ปั้น 2,547 ฐานราก สู่ผู้ประกอบการเกษตรอุตฯ อัจฉริยะ
กระทรวงอุตสาหกรรม ปลื้มความสำเร็จโครงการโอปอยซี หรือ OPOAI-C ปี 2566 ชุมชนเกษตรกรตื่นตัวเข้าร่วมโครงการทะลุเป้าหมาย สร้างสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน หนุนสร้างซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยสู่ตลาดโลก เพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบและอัตลักษณ์ของชุมชน ด้วยกลไกลฝึกอบรม การพัฒนา R&D การสร้างคุณค่าผลผลิตทางการเกษตร โดยมีวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วม 2,547 ราย เกิดสินค้าใหม่ 312 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายมุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมใน 4 มิติ ประกอบด้วย 1. ความสำเร็จทางธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ มุ่งให้ผู้ประกอบการมีกำไรในการดำเนินธุรกิจ 2. ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรและมีความสุข 3. ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อโอกาสทางธุรกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก ทั้งการลดโลกร้อน การลดใช้น้ำ และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้มากขึ้น และ 4. การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ด้วยการกระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรนับเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมรากฐานของประเทศ เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นจำนวนมาก ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงดำเนินการการขับเคลื่อนการแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน (One Province One Agro-Industrial Community : OPOAI-C)” ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมีชุมชนเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ จำนวน 2,547 ราย และพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค 312 ผลิตภัณฑ์ ทำให้วิสาหกิจสามารถกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าสูง ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งของการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของไทยที่มีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างรายได้ให้ภาคเกษตรที่เป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งขึ้น
“ประชาชนส่วนใหญ่ของไทยกว่า 45% ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก แต่ผลผลิตส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่กับฤดูกาล ทำให้เกิดสินค้าล้นตลาด ราคาตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำ กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจึงขับเคลื่อนโครงการนี้ โดยมุ่งเป้าให้เกษตรกรกลายเป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ด้วยการเข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ในการพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าสูง ปลอดภัยและได้มาตรฐาน เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรให้เป็นกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนการเกษตรในลักษณะของฝากของที่ระลึกที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตและการท่องเที่ยวมากขึ้น” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
ทั้งนี้ ได้มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการออกแบบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และบริการ ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดอย่างมีมาตรฐาน โดยการนำงานวิจัยและพัฒนามาสร้างมูลค่าเพิ่ม มีการใช้วัตถุดิบและทรัพยากรในท้องถิ่นให้สามารถเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และช่วยพัฒนาเกษตรกรรายอื่น ทั้งวิสาหกิจชุมชน กลุ่มชุมชนการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร ซึ่งสามารถเชื่อมโยงภาคการผลิต การท่องเที่ยวของจังหวัด มีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และการเพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ หรือ E-Commerce มาใช้ประโยชน์ในการสร้างรายได้ สร้างคุณค่าของสินค้าและบริการเพื่อทำการตลาดในวงกว้างมากยิ่งขึ้นทั้งตลอดในประเทศและต่างประเทศ
สำหรับการในปีงบประมาณ 2566 ดำเนินการครอบคลุมทั้งจังหวัด 76 จังหวัด สามารถฝึกอบรมเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตผลทางการเกษตร จำนวน 2,547 ราย ส่งผลให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ต้นแบบให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการถึง 312 ผลิตภัณฑ์ และยังมีการฝึกอบรมเชิงลึกเพื่อพัฒนาและยกระดับเกษตรกรสู่การประกอบกิจการธุรกิจเกษตร ได้ถึง 410 ราย โดยพบว่าเกษตรกรที่ได้รับการพัฒนามีรายได้เพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 13.97% และคาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้น 50.3672 ล้านบาท และยังส่งผลให้เกิดการลงทุนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังสร้างอาชีพให้กับชุมชนได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ราย ก่อให้เกิดสินค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ ทอฟฟี่ลำไย จ.เชียงใหม่ ไวน์อ้อย จ.ชัยภูมิ ไซรับอินทผลัม จ.ร้อยเอ็ด น้ำหอมแห้งจากน้ำมันไขชะมด จ.เพชรบุรี สเปรย์มะรุมระงับกลิ่นกาย จ.สิงห์บุรี ข้าวเกรียบกล้วยน้ำว้า จ.กาญจนบุรี เครื่องจมูกข้าวพร้อมชง จ.ปราจีนบุรี ไอศกรีมกระท้อน จ.สระแก้ว กระเป๋าสานทางปาล์มบุผ้าปาเต๊ะ จ.กระบี่ เครื่องแกงส้ม จ.พัทลุง เป็นต้น
A9529