- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 24 December 2014 01:26
- Hits: 2759
ก.อุตฯ สั่งลดโควตานำเข้าเหล็กตามกรอบเจเทปา เหลือ 5.3 แสนตัน หลังยอดผลิตรถยนต์ต่ำเป้า
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงการกำหนดโควตาการนำเข้าเหล็กตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการนำเข้าสินค้าหมวดเหล็กและเหล็กกล้าที่มีโควตาตามความตกลงเจเทปา ได้กำหนดปริมาณโควตานำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากประเทศญี่ปุ่นสำหรับปี 2558 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า ท่อเหล็ก และเฟอร์นิเจอร์ ไว้ที่ 5.3 แสนตัน ลดลงจากปี 2551 ให้โควตา 1 ล้านตัน ปี 2555 ให้ 1.33 ล้านตัน ปี 2556 ให้ 1.23 ล้านตัน และปี 2557 ให้ 1.22 ล้านตัน จำนวนโควตาที่ลดลง เพราะคาดว่าปริมาณการผลิตรถยนต์จะต่ำกว่าประมาณการ ซึ่งต้นปี 2557 ตั้งเป้าผลิต 2.7 ล้านคัน แต่ผลิตได้จริง 2 ล้านคัน ในปีหน้า ตามตัวเลขของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดมียอดผลิต 2.2 ล้านคัน
ขณะที่ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนวิธีการคำนวณปริมาณการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมรถยนต์ใหม่จากเดิมคำนวณจากการใช้เหล็กในรถยนต์ขนาดใหญ่สุดคูณจำนวนรถยนต์ที่คาดว่าจะผลิตได้ มาเป็นการแบ่งการใช้เหล็กในรถยนต์ 3 ขนาด เล็ก กลาง และใหญ่ ตามประมาณการที่จะผลิตได้ และนำมาหาค่าเฉลี่ยเป็นปริมาณการใช้เหล็ก ทำให้ได้จำนวนการใช้เหล็กใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด
การกำหนดโควตาครั้งนี้ ยังได้ปรับกฎเกณฑ์ให้มีการพิจารณาจำนวนโควตาในช่วงกลางปีอีกครั้ง หากไม่เพียงพออาจพิจารณาเพิ่มได้ หรือจำนวนมากเกินไปปรับลดโควตาได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้กำหนดโควตานำเข้าเหล็กได้ตรงความจริงมากที่สุด ต่างจากอดีตกำหนดครั้งเดียวและไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้
ในอนาคต คาดจะลดโควตานำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่นลงต่อเนื่อง หลังจากบริษัทเหล็กชั้นนำของญี่ปุ่น ได้แก่ นิปปอน สตีล และ เจเอฟอี สตีล เข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็กแผ่นในไทย มีกำลังผลิตรวม 7.6 แสนตัน/ปี คาดว่าจะมีการลงทุนขยายกำลังการผลิตมากขึ้นด้วย
กระทรวงอุตสาหกรรมยังเรียกร้องให้ฝ่ายญี่ปุ่นทำตามข้อตกลงเจเทปป้าที่กำหนดให้ญี่ปุ่นต้องถ่ายทอดความช่วยเหลือด้านวิชาการให้ไทย ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ทำตามข้อตกลงเต็มที่ เพราะผู้ประกอบการเหล็กญี่ปุ่นวิตกว่าความลับทางการค้าจะรั่วไหล ล่าสุดได้มีข้อตกลงให้ญี่ปุ่นจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมตามหัวข้อที่ฝ่ายไทยต้องการ สรุปภายในเดือน มี.ค.2558 รวมทั้งกำหนดให้ญี่ปุ่นเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาห้องแล็ปทดสอบของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สู่การเป็นห้องแล็ปเพื่อการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล็กมาตรฐานสูงสุดในอาเซียน
"ที่ผ่านมาฝ่ายไทยได้สูญเสียรายได้จากภาษีนำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่นตามกรอบเจเทปป้ากว่า 1,000 ล้านบาท/ปี ขณะที่ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการไม่ถึง 10 ล้านบาท ญี่ปุ่นจึงควรเพิ่มความช่วยเหลือตามข้อตกลงเจเทปป้า"
ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ มีโอกาสเกิดขึ้นในไทย หากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ได้ จะทำให้ประชาชนคลายความกังวลในการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน เป็นโอกาสให้ตั้งโรงถลุงเหล็กต้นน้ำได้ ทำให้ไทยกำหนดวัตถุดิบเหล็กให้ผลิตเหล็กได้ทุกชนิด และมีต้นทุนต่ำลง ขณะที่ประเทศคู่แข่งเวียดนาม และอินโดนีเซีย อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก ที่จะเริ่มต้นผลิตได้ปีหน้า ทำให้มีต้นทุนเหล็กต่ำกว่าไทย และไทยอาจจะต้องนำเข้าเหล็กจากทั้ง 2 ประเทศ
ส่วนความต้องการใช้เหล็กในปี 2558 มีประมาณ 17.4 ล้านตัน สูงกว่าปี 2557 ที่มีความต้องการ 16.9 ล้านตัน เป็นการผลิตภายในประเทศ 6.2 ล้านตัน
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย