- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 21 April 2023 00:56
- Hits: 2313
อุตฯ จ.สระบุรี ผุดโครงการเหมืองแร่สร้างสุขฯ ยกระดับอาชีพชุมชน 42 กิจการ ต่อยอดพัฒนา 31 ผลิตภัณฑ์ ดันมูลค่าเศรษฐกิจปีแรกพุ่งกว่า 46 ล้านบาท
สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี จัดโครงการเหมืองแร่สร้างสุข ส่งเสริมอาชีพชุมชน ประจำปีงบประมาณ 2565 ภายใต้การจัดสรรงบประมาณจาก “การเก็บเงินบำรุงพิเศษ” โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มุ่งยกระดับอาชีพชุมชนให้แก่ประชาชน วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs รอบกิจการเหมืองแร่ใน จ.สระบุรี รวม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แก่งคอย อ.พระพุทธบาท อ.เฉลิมพระเกียรติ และอ.มวกเหล็ก รวม 42 กิจการ หวังเติมเต็มเศรษฐกิจให้ชุมชนเติบโตเข้มแข็งอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เน้นผลักดันกระบวนการผลิตและแปรรูปผลผลิตภาคการเกษตรให้มีมาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมครบวงจร พร้อมติวเข้มพัฒนาทักษะความรู้การค้าออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม เพิ่มช่องทางการขายใหม่ๆ เตรียมทดสอบตลาด หนุนจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนายกระดับ ระหว่างวันที่ 3 – 7 พ.ค. 2566 ณ ลานกิจกรรม ชั้น B ซีคอน บางแค กรุงเทพมหานคร คาดกระตุ้นการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 46.2 ล้านบาท มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 32.43% ในปีแรก
นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า จังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมซีเมนต์และแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง สร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐจากการเก็บค่าภาคหลวงแร่ได้สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ 1,300 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม พบว่าจังหวัดสระบุรียังมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชนในพื้นที่ ประชาชนมีภาระหนี้สิน รายได้ไม่พอกับรายจ่ายเนื่องจากไม่มีอาชีพเสริมหลังจากการทำอาชีพหลัก ไม่มีการส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพอย่างต่อเนื่อง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีจึงได้จัดทำโครงการเหมืองแร่สร้างสุข ส่งเสริมอาชีพชุมชน ประจำปีงบประมาณ 2565 ได้รับการจัดสรรงบประมาณจาก “การเก็บเงินบำรุงพิเศษ” โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อยกระดับอาชีพชุมชนให้แก่ประชาชน วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs รอบกิจการเหมืองแร่ใน จ.สระบุรี รวม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แก่งคอย อ.พระพุทธบาท อ.เฉลิมพระเกียรติ และอ.มวกเหล็ก มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการยกระดับอาชีพโดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการบริหารจัดการผนวกกับการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโตอย่างเข้มแข็ง และอยู่ร่วมกับผู้ประกอบการเหมืองแร่อย่างยั่งยืน
“โครงการเหมืองแร่สร้างสุข ส่งเสริมอาชีพชุมชน มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพด้านกระบวนการผลิตและการแปรรูปผลผลิตภาคการเกษตร ยกระดับราคาสินค้าภาคการเกษตร เพิ่มทักษะด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเติมเต็มความต้องการด้านเศรษฐกิจของจังหวัดทำให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่เกิดอาชีพมีการสร้างรายได้ที่มั่นคง สร้างชุมชนที่มีความสุข และยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกิจการเหมืองแร่ในการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างสมดุล นอกเหนือจากกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม อันเป็นไปตามภารกิจของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่”
นายนพดล ชีวะอิสระกุล อุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฯ เริ่มดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 จัดให้มีกิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการรวม 42 ราย แบ่งเป็น ผู้ประกอบการเพิ่งเริ่มต้น (Startup/New Entrepreneurs) เป็นการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ โดยการยกระดับการผลิตสินค้าตามกฎหมายของไทย เช่น การขออนุญาตสถานที่ผลิต การขอเลขผลิตภัณฑ์ จำนวน 11 ราย แบ่งเป็นอาหารและเครื่องดื่ม 9 ราย มิใช่อาหาร 2 ราย และผู้ประกอบการเดิมที่ต้องการต่อยอด (Regular) โดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอาหารได้เข้ามาช่วยปรับปรุง/พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้พร้อมเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ และช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 31 ราย แบ่งเป็นอาหารและเครื่องดื่ม 28 ราย มิใช่อาหาร 3 ราย
นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมอบรมเพิ่มทักษะการจัดทำสื่อสังคมออนไลน์ส่งเสริมการขาย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดวิถีใหม่ในทุกแพลตฟอร์ม เช่น การจดทะเบียน Facebook Fan page, Line Official Account และ Instagram เป็นต้น รวมถึงการออกแบบหน้าหลักของกิจการให้มีความสวยงามดึงดูดความสนใจ ถ่ายทอดพื้นฐานการใช้งานและการบริหารจัดการเนื้อหา เทคนิคการถ่ายภาพสินค้า และการ live ขายสินค้าเพื่อให้สามารถบริหารจัดการเครื่องมือสำหรับการค้าออนไลน์ได้ด้วยตนเอง โดยจัดอบรม 2 วัน จำนวน 4 ครั้ง มีผู้เข้าอบรมรวม 206 คน ซึ่งพบว่าผู้เข้าอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 88.43 มีทักษะเพิ่มขึ้นสามารถนำไปใช้สร้างยอดขายสินค้าจากช่องทางตลาดออนไลน์ได้
“ขณะนี้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ผ่านการต่อยอด ปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทีมที่ปรึกษาสถาบันอาหาร มีความพร้อมเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์และช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ จำนวน 31 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 28 ผลิตภัณฑ์ อาทิ เครื่องดื่มข้าวกล้องเจ๊กเชยผสมผงกล้วยและผักรวม วิสาหกิจชุมชนภูริธาราพรรณ ซอสผัดไทยผสมมัลเบอร์รี่ โดย สวนสมุนไพรมงคลพัฒน์ เครื่องดื่มมะขามป้อมสำเร็จรูปชนิดผง โดย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรพุแค เครื่องดื่มมะม่วงหาวมะนาวโห่สำเร็จรูปชนิดผง โดย วิสาหกิจชุมชนตลาดหัวปลี จังหวัดสระบุรี กระชายแช่อิ่มอบแห้ง 3 รส โดย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปกระชายบ้านช่องใต้ นมสดมัลเบอร์รี่ โดย วิสาหกิจชุมชนเพื่อการผลิตพืชผักผลไม้เพื่อความปลอดภัย(GAP) ต.หนองย่างเสือ น้ำสลัดอะโวคาโด โดย สวนผักครูสรรเสริญ ปลาดุกสมุนไพรทอดกรอบทรงเครื่อง โดย วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์แปรรูปปลาบ้านท่ามะปราง เห็ดนางฟ้าภูฐานทอดกรอบปรุงรส โดย วิสาหกิจชุมชนเกษตรพร้อมใจบ้านโพธิ์พร้อมจิต งาขี้ม่อนอัดแท่งผสมธัญพืช 5 ชนิด โดย ชีวาพรเฮิร์บ กะหรี่พัฟแบบอบไส้มัสมั่นเนื้อ โดย วิสาหกิจชุมขนแม่บ้านมวกเหล็ก และตะลิงปลิงแช่อิ่มอบแห้ง โดย บ้านไร่สมเกียรติโฮมสเตย์ เป็นต้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระเป๋าจากเชือกมัดฟาง โดย วิสาหกิจชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง และกล่องไม้ประดับดอกไม้จากกระดาษสา โดย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านสระบุรี และกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 1 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สเปรย์ระงับกลิ่นปากจากใบโปร่งฟ้า โดย วิสาหกิจชุมชนโอทอป คอมเพล็กซ์ พุแค สระบุรี เป็นต้น โดยประเมินว่าสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 46.2 ล้านบาท เกิดการลงทุนผลิต สร้างงาน เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ คาดว่ามีอัตราเติบโตรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 32.43%”
ทั้งนี้ ก่อนเสร็จสิ้นโครงการฯ ได้เตรียมจัดงานแสดงสินค้าเพื่อทดสอบตลาดและสร้างโอกาสทางการตลาด เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ นำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการต่อยอดมาแสดงและจำหน่าย จำนวนประมาณ 40 ราย โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 7 พ.ค. 2566 ณ ลานกิจกรรม ชั้น B ซีคอน บางแค กรุงเทพมหานคร
A4670