- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 11 March 2023 13:46
- Hits: 1643
ครม. ขยายเวลามาตรการทางภาษีเพิ่มอีก 3 ปี ส่งเสริมการจ้างงานและการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง ตั้งเป้าหนุนจ้างงาน 5,000 ตำแหน่ง พร้อมเพิ่มจำนวนผู้ฝึกอบรม 20,000 คน จาก 1,000 บริษัท ภายในปี 66
คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 1) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง เป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่การจ้างงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ (STEM) เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงด้าน STEM เพิ่มมากขึ้น และ 2) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง เป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรม หรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้างในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่กำหนด ได้แก่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Center of Robotics Excellence: CoRE) เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้มีทักษะที่สูงขึ้น
ทั้ง 2 มาตรการนี้ จะเข้ามาช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงเป็นการพัฒนาบุคลากรของไทยให้มีประสิทธิภาพ และพัฒนาการประกอบกิจการของเอกชนในประเทศ โดย ครม. ได้เห็นชอบขยายเวลามาตรการทางภาษีเพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 รวมระยะเวลา 3 ปี
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มดำเนินการตามมาตรการ Thailand Plus Package มีบริษัท หน่วยงาน รวมถึงบุคคลทั่วไปให้ความสนใจทั้งในส่วนการจ้างงานและการส่งบุคลากรเข้าอบรมเสริมทักษะเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีการรับรองการจ้างงานด้าน STEM ไปแล้วมากกว่า 3,700 ตำแหน่งงาน จากทั้งหมด 74 บริษัท และมีการรับรองหลักสูตรให้กับหน่วยฝึกอบรม ที่เป็นหน่วยงานทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ไปแล้วมากกว่า 600 หลักสูตร จาก 58 หน่วยฝึกอบรม ซึ่งหลังจาก ครม. เห็นชอบการขยายมาตรการทางภาษีต่อไปอีก 3 ปี จะส่งผลให้สามารถขยายสิทธิประโยชน์ในการจ้างงานและการฝึกอบรมบุคลากร ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัท พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีทักษะสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายการดำเนินงานให้มีการจ้างงาน 5,000 ตำแหน่ง และเพิ่มจำนวนบุคลากรที่ได้รับการอบรมรวม 20,000 คน จาก 1,000 บริษัท ภายในปี 2566
A3451