- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 23 February 2023 20:13
- Hits: 1769
สอวช. จัดเวทีถก โอกาสของประเทศไทยกับยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เอกชนมองเห็นแนวทางพัฒนาฐานการผลิตในประเทศ สนับสนุนอู่รถไทย มุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน ลดมลพิษ ประหยัดค่าน้ำมัน ลดหนี้ครัวเรือน
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ในรายการ Future Talk by NXPO ครั้งที่ 15 ในประเด็น “โอกาสของประเทศไทยกับ EV Conversion” ตามที่ประเทศไทยวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ของโลก โดยรัฐบาลไทยมีนโยบายกำหนดให้ “ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค” และวางเป้าหมายในปี ค.ศ. 2030 จะผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30% รวมถึงเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่กำหนดให้ไทยผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง จำนวน 40,000 คัน ภายในปี ค.ศ. 2027 โดยรายการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด และนายพลพจน์ วรรณภิญโญชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีซียูช็อป 1 จำกัด มาร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย นักยุทธศาสตร์ สอวช.
ดร.ธนาคาร กล่าวว่า ปัจจุบันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เริ่มเห็นโอกาสในการดัดแปลงรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Conversion กันมากขึ้น โดยมีการทำต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถบรรทุก รถยนต์นั่ง รถบัส รถกระบะ รถจักรยานยนต์ หรือรถสามล้อ รวมถึงมีการทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) มีการทดสอบ และสำรวจความต้องการของตลาด จนผลิตออกมาเป็นสินค้าที่ใช้จริงอยู่บ้างแล้ว แต่ก็ยังมีความต้องการความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ ภาคการศึกษา ซึ่งทุกฝ่ายกำลังหารือร่วมกัน เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไปสู่ระดับอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากในปัจจุบัน ยังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ การจะทำให้เกิดมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ และทำให้ประชาชนยอมรับ จึงต้องมีการทำงานเชื่อมโยงกันทั้งระบบ
“การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์สำคัญที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงได้ในทันที ส่วนกลุ่มที่สองเน้นการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์สำคัญขึ้นภายในประเทศเพื่อสร้างขีดความสามารถ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม สามารถพัฒนาควบคู่ไปได้พร้อมกัน เพื่อสร้าง Demand ความต้องการของชิ้นส่วนภายในประเทศให้มีปริมาณที่มากเพียงพอและคุ้มค่าในการลงทุนและพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมที่แข่งขันได้ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ตั้งเป้าผลักดันเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และในไทยมีรถเก่าอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่สามารถนำรถยนต์ไฟฟ้าใหม่มาทดแทนได้ทั้งหมด การสนับสนุนการดัดแปลงรถเก่าที่มีอยู่ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ปัญหาฝุ่นควัน และมลภาวะที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้” ดร.ธนาคาร กล่าว
ดร.มนูญ กล่าวว่า ปัญหา PM 2.5 ส่วนใหญ่ เกิดจากรถเก่าที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งปัจจุบันยานยนต์รูปแบบเดิมนั้นกำลังถูกแทนที่อย่างรวดเร็วด้วยยานยนต์ไฟฟ้า แต่การจะหารถใหม่ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ทั้งหมดอาจไม่ทันเวลา จึงเป็นที่มาของการนำรถยนต์เดิมมาดัดแปลงให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้า โดยจะได้ในเรื่องของคาร์บอนเครดิต และการไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามที่ตั้งเป้าไว้ สำหรับคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ได้นำปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานไปปรับแก้ไข สร้างให้เกิดมาตรฐานขึ้นในอุตสาหกรรม และสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ต่อไปได้
ปัจจุบันได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ทั้งในเรื่องแบตเตอรี่ ภาษีแบตเตอรี่ การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ รวมไปถึงการเสริมสร้างทักษะที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ หรืออู่รถ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความสามารถในการดัดแปลงรถเดิมเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ยังต้องสร้างให้เกิดความต้องการใช้งาน ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้งานเปลี่ยนผ่านได้เร็วขึ้น
“ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการกำหนดแนวทางการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไว้อย่างชัดเจน มั่นใจได้ว่าภาครัฐให้การสนับสนุนแน่นอน จึงอยากให้ผู้ประกอบการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคม เพื่อประโยชน์ต่อตัวท่านเอง และส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่สามารถส่งข้อเสนอโดยตรงไปที่ภาครัฐ และอยากเห็นผู้ประกอบการไทยมีความเข้มแข็ง พัฒนาตนเองเป็นค่ายรถยนต์ จำหน่ายในประเทศและต่างประเทศได้” ดร.มนูญ กล่าว
ด้าน นายพนัส กล่าวว่า บริษัทฯ มีประสบการณ์ตรงในการออกแบบ ทั้งการทำรถพ่วง รถขนส่งขนาดใหญ่ และเป็นผู้ริเริ่มผลิตรถที่ใช้ในสนามบิน ทั้งรถดันเครื่องบิน รถไฟฟ้า และเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในการนำรถเก่ามาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดยจากการทดสอบพบว่า รถที่ดัดแปลงแล้ว สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้จริงเมื่อเทียบจากการใช้น้ำมัน
นายพนัส ยังได้กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคที่พบจากการทำยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ทั้งในด้านอุปสงค์ (Demand) หากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนก็จะมีปัญหาในการทำ R&D เนื่องจากรถในตลาดมีหลายรุ่น หลายโมเดล การผลิตชุด KIT สำหรับรถยนต์เดิม อาจยังไม่สามารถทำได้ครอบคลุมทั้งหมด ส่วนปัญหาในด้านอุปทาน (Supply) เรื่องแบตเตอรี่ และการจัดหาชิ้นส่วนประกอบที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ในสถานการณ์ที่โลกโกลาหล ทั้งสงคราม และการแบ่งฝ่ายของประเทศมหาอำนาจในโลก ทำให้เกิดการล็อกสเปคการสั่งซื้อ หากเราผลิตได้เอง จะดีทั้งในแง่ของต้นทุน และคาร์บอนเครดิต เพราะการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ ผู้ได้ประโยชน์คือผู้ผลิตรถ แต่ถ้าทำยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ผู้ได้ประโยชน์จะกระจายไปสู่รากหญ้า คือ อู่เล็กๆ และผู้ประกอบการชิ้นส่วนต่างๆ ด้วย หากภาครัฐส่งเสริมให้ไทยผลิตเอง เชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะสามารถเติบโตไปได้แน่นอน ขณะเดียวกัน ยังต้องพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งทางบริษัทฯ ก็ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในการออกแบบหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรให้รองรับความต้องการในอนาคตด้วย
ด้านนายพลพจน์ กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจรถยนต์ถูกแทรกแซงด้วยยานยนต์ไฟฟ้า และด้วยภาวะโลกร้อน โลกรวน ปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ยิ่งทำให้ทั่วโลกต้องหันมาให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งแนวทางนั้น ทางบริษัทฯ จึงเริ่มศึกษาเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงอย่างจริงจัง แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาอยู่หลายส่วน ทั้งเรื่องของการนำเข้าอุปกรณ์ ราคาสินค้า และคอนโทรลเลอร์ต่างๆ ถูกจำกัดด้วยการใช้งาน จึงเริ่มผลิตคอนโทรลเลอร์ต่างๆ เอง อย่างไรก็ตาม นายพลพจน์ กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญในขณะนี้คือ การดัดแปลงรถต่อคันยังมีราคาสูง อีกทั้งการพึ่งรถยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงเพียงอย่างเดียว ในการช่วยลดคาร์บอนฯ ตามที่รัฐบาลต้องการ หรือตามพันธกิจโลก คงเกิดขึ้นได้ยากตราบใดที่รถยนต์สันดาปแบบเดิมยังวิ่งอยู่บนท้องถนน
ถึงเวลาแล้วที่จะยกระดับยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงของไทยให้เป็นอุตสาหกรรม โดยภาคเอกชนไทยมีความพร้อม ต้องการรวมกลุ่มในรูปของสมาคม เพื่อรวบรวม Demand และ Supply มีคุณภาพและมาตรฐาน ลดต้นทุน และการสนับสนุนของรัฐบาลเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ประเทศไทยอาจพิจารณาแนวทางของต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ที่สนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในจำนวนเงินที่เท่ากันกับยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ ซึ่งสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และแก้ปัญหามลพิษทางอากาศโดยการดัดแปลงรถเก่าเป็นไฟฟ้า ที่ทำไปได้ควบคู่กัน
A2681