- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 22 January 2023 21:20
- Hits: 1671
‘เอนก’ แนะ ขยายตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าไปยังอินเดีย และ CLMV ชี้ ต่างชาติเชื่อมั่นเทคโนโลยีของไทย สอวช. ตั้งเป้าขับเคลื่อน 5 ทิศทางสำคัญ นำพาประเทศไทยบรรลุเป้าหมายสู่ประเทศพัฒนาแล้ว
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 ชั้น 14 อาคารจัตุรัสจามจุรี สอวช. และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้นำเสนอแนวทางการสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงของประเทศไทยและเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ของประเทศไทย ทั้งนี้ สืบเนื่องจากวิกฤตพลังงานเชื้อเพลิงที่มีราคาสูง การดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้าจึงช่วยประหยัดค่าน้ำมันและค่าซ่อมบำรุงได้ ขณะเดียวกันประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่สามารถแบกรับภาระซื้อรถยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงก็จะสามารถดัดแปลงรถเก่าได้ ในส่วนของความพร้อมของประเทศไทยหากจะต้องเปลี่ยนแบบฉับพลัน อาจยังไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด เนื่องจากยังขาดความพร้อมเรื่องเทคโนโลยี เครื่องมือ ตลอดจนอู่ที่จดทะเบียนที่สามารถผลิตและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าได้ยังมีจำนวนจำกัด ดังนั้นในระยะแรก ควรเริ่มจากเปลี่ยนชิ้นส่วนรถไฟฟ้าบางชิ้น เพื่อที่อู่จะสามารถซ่อมเรียนรู้ได้ นอกจากนี้ ยังต้องเร่งฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ด้วย
ทั้งนี้ ดร.เอนก ได้กล่าวสนับสนุนโครงการดังกล่าว พร้อมกับให้คำแนะนำว่า ให้ขยายตลาดไปยังประเทศอินเดีย ซึ่งมีความต้องการในการลดมลพิษในประเทศสูง ขณะเดียวกันตลาด CLMV ก็มีความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีของไทย โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม หากเราทำอุตสาหกรรมยานยนต์ดัดแปลงให้ดี จะมีโอกาสอีกมาก ดร.กิติพงค์ ได้กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังทำชุดดัดแปลงออกมาในราคาถูก ซึ่งได้รับความสนใจจากประเทศอินเดีย และอินโดนีเซีย และกำลังประสานความร่วมมือกันในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่จะมีการขยายผลต่อไป
สำหรับมาตรการในประเทศ ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ควรเร่งสนับสนุนให้ประชาชนดัดแปลงรถยนต์เก่าเป็นยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสามารถจดทะเบียนได้ ผู้ประกอบการเดิมสามารถปรับตัวไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และมีการลงทุนเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญภายในประเทศ ส่งเสริมการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าในรถเก่าเพื่อเร่งให้เกิดการลงทุนในระบบนิเวศและการถ่ายทอดองค์ความรู้ของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการสร้างความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากในสถาบันการศึกษา ที่สามารถพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคต พัฒนาเทคโนโลยีด้านระบบคมนาคมแห่งอนาคต พัฒนาและให้บริการระบบขนส่งคน เป็นต้น
ในการประชุมวันนี้ ดร.กิติพงค์ ยังได้นำเสนอแผนการดำเนินงานของ สอวช. ที่จะดำเนินงานในปี 2566 ว่า สอวช. จะร่วมขับเคลื่อน ใน 5 ทิศทางสำคัญ คือ 1. ยกระดับประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยสร้างผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม หรือ Innovation Driven Enterprise (IDE) ในมหาวิทยาลัย รวมทั้งการปลดล็อกหน่วยงานภาครัฐและองค์การมหาชนให้สามารถร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมได้จริง นอกจากนี้ ยังได้สร้างต้นแบบเครือข่ายที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจนวัตกรรมและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการนวัตกรรมให้สามารถเข้าถึงตลาดโลกได้ 2. ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) โดยใช้มาตรการบันไดเลื่อนเลื่อนสถานะประชากรฐานราก 1 ล้านคน ภายในปี 2570 3. ด้านความยั่งยืน ในการลดก๊าซเรือนกระจก สอวช. ได้สร้างเมืองต้นแบบสระบุรี และ แม่เมาะ จ.ลำปาง ให้เป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ 4. เพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูงเพิ่มขึ้น 25% ภายในปี 2570 สามารถต่อยอดออกสู่อุตสาหกรรมและตลาดข้ามประเทศ และ 5. ปฏิรูประบบ อววน. ทั้งในเรื่องการทำ NQI System Alignment รวมถึงการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง หรือมหาศิลปาลัย
ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า บพท. ได้รับมอบหมายจาก รมว.อว. ให้เป็นผู้รับผิดชอบในการดาเนินงานจัดตั้งวิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งธัชภูมิจะเป็นกลุ่มของสถาบันความรู้และแพลตฟอร์มความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ตลอดจนสถาบันความรู้เฉพาะด้านต่างๆ ผ่านการทำงานร่วมกับแผนงานวิจัยสำคัญที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วย บพท. เพื่อยกระดับแนวคิด ทฤษฎี สร้างชุดความรู้ที่สามารถส่งออกสู่สากล รวมถึงการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำโดยการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งสถาบันความรู้ 5 สถาบัน ดังนี้ 1. สถาบันความรู้เพื่อจัดการทุนทางวัฒนธรรม 2. สถาบันความรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและผู้ประกอบการท้องถิ่น 3. สถาบันความรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางสังคม 4. สถาบันความรู้เพื่อการพัฒนาเมืองและระเบียงเศรษฐกิจ และ 5. สถาบันความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรปกครองท้องถิ่น
ทั้งนี้ ดร.เอนก ได้กล่าวย้ำว่า ธัชภูมิ เป็นความรู้เชิงพื้นที่ ทำหน้าที่วิจัยและให้ความรู้เกี่ยวกับเชิงพื้นที่ แต่ไม่ได้ตัดขาดจากศาสตร์และศิลป์ ที่สามารถนำมาใช้ต่อยอดการพัฒนาของประเทศได้อีกทางหนึ่ง
A1501