WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สถาบันอาหาร สรุปสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของไทย 9 เดือนแรกปี 57

      สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม  เผยสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของไทยช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.-ก.ย.) พบ คนไทยนิยมบริโภคกาแฟมากขึ้น ผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ชี้ความต้องการสูงถึง ปีละ 70,000 ตัน ต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟสดจากเวียดนาม และอินโดนีเซีย เกือบ 30,000ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.90 ด้านส่งออกภาพรวมเติบโตดีขยายตัวร้อยละ 10.74 มีมูลค่าราว 752,339.53ล้านบาท คาดสิ้นปี 57 ไทยจะส่งออกข้าวได้สูงราว 9 - 10 ล้านต้น หวังทวงแชมป์ผู้นำส่งออกข้าวอันดับ1ของโลก ขณะที่กุ้งแช่แข็งและแปรรูป อาจต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจาก อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

    นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดทำรายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.- ก.ย.) พบว่า มูลค่านำเข้าวัตถุดิบและสินค้าอาหารแปรรูปมีมูลค่า 295,365.72 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.57 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เฉพาะเดือนกันยายน มีมูลค่านำเข้า 38,327 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันกับปีที่แล้วร้อยละ 27.2  ประเภทสินค้านำเข้าอันดับ 1ในช่วง 9 เดือนนี้ คือ กลุ่มวัตถุดิบประมงแช่เย็นแช่แข็ง สัดส่วนร้อยละ 20.05 มีมูลค่าถึง 62,245.67 ล้านบาท สินค้าที่สำคัญคือ สกิปแจ็คทูน่า หมึกกล้วย และหมึกกระดอง อันดับ 2 คือกากของเหลือจากการผลิตน้ำมันและอาหารสัตว์ มูลค่า 61,503.75ล้านบาท สินค้านำเข้าที่สำคัญ อื่นๆเช่น เมล็ดถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์นม แป้งสำหรับทำเบเกอรี่ อาหารแปรรูปอื่นๆ แอปเปิ้ล องุ่น ข้าวสาลี เป็นต้น

    “สำหรับสินค้านำเข้าที่มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นที่น่าสนใจอีกชนิดคือ เมล็ดกาแฟที่ไม่ได้คั่วบด ทั้งแบบมีกาเฟอีนและไม่มีกาเฟอีน ทั้งพันธุ์อราบิก้าและโรบัสตา ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีปริมาณนำเข้า 28,345.12 ตัน มูลค่า 1,879.39 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วในเชิงปริมาณร้อยละ 14.90 และในเชิงมูลค่าร้อยละ 17.54โดยแหล่งนำเข้าหลัก ได้แก่ เวียดนาม และอินโดนีเซีย เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคของตลาดกาแฟสดในประเทศที่เติบโตอย่างสูงปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยผลผลิตกาแฟของไทย ประเมินโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีปริมาณเพียง 38,463 ตัน ขณะที่ความต้องการใช้เมล็ดกาแฟของโรงงานสูงถึงประมาณ70,000 ตัน ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้า เพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณการบริโภคกาแฟของคนไทย”

   นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า ด้านสถิติส่งออกอาหารช่วง 9 เดือนแรกปี 2557 ไทยสามารถส่งออกได้แล้วมูลค่า752,339.53 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 10.74 ทั้งนี้เป็นผลจากการส่งออกข้าว ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น 2.9 ล้านตัน และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 24,403 ล้านบาทเทียบจากปีที่แล้ว โดยมีอาเซียนเป็นตลาดส่งออกหลักมีสัดส่วนถึงร้อยละ 22.30 ของมูลค่าส่งออกอาหารทั้งหมด รองลงมาคือตลาดญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยตลาดญี่ปุ่นนั้นสถานการณ์ยังชะลอตัวเช่นเดียวกับเยอรมนี ที่มูลค่าส่งออกยังน้อยกว่าปีก่อน ขณะที่สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ การส่งออกส่งมีสัญญาณฟื้นตัว ส่วนตลาดอื่น ๆ มีแนวโน้มขยายตัวดีทั้งฮ่องกง ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และประเทศทางทวีปแอฟริกา

    โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับ ได้แก่ 1) เนื้อไก่แปรรูปมูลค่าส่งออก 45,817.64 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.49 ปริมาณส่งออก 295 พันตัน ลดลงร้อยละ 1.63 จากปีที่แล้ว ตลาดส่งออกที่ขยายตัวดี ได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ไอร์แลนด์ ฮ่องกง แคนาดา  2) ทูน่ากระป๋องมูลค่าส่งออก 42,493.28 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 1.37 ปริมาณส่งออก 330 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.63 จากปีที่แล้ว เนื่องจากตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ต่างส่งออกได้ลดลง แต่ตลาดส่งออกใหม่อย่างเช่น อียิปต์ จอร์แดน อิสราเอล เปรูฯลฯ กลับมีแนวโน้มขยายตัวสูง 3) น้ำตาลทรายดิบมูลค่าส่งออก 34,036 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 544.39 ปริมาณส่งออก 2.63 ล้านตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 91.23 จากปีที่แล้ว

       ทุกตลาดมีแนวโน้มขยายตัวสูงเนื่องจากระดับราคาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และราคาเริ่มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดได้รับแรงหนุนจากข่าวเกี่ยวกับการปรับเพิ่มเพดานการผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซินของบราซิล ตลาดหลักที่สำคัญในการส่งออกของไทย ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ 4) ข้าวนึ่งมูลค่าส่งออก 31,269.48 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.93 ปริมาณส่งออก 791 พันตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 111.84 จากปีที่แล้ว ตลาดส่งออกที่ขยายตัวดี เช่น เบนิน แคเมอรูน แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย 5) ข้าวหอมมะลิ 100% เกรดB มูลค่าส่งออก 30,581.90 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 12.42 ปริมาณส่งออก 902 พันตัน หดตัวลงร้อยละ 10.06 จากปีที่แล้ว ตลาดส่งออกที่ยังขยายตัวดี เช่น แคนาดา ฮ่องกง บรูไน

   อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มตลาดในขณะนี้ เชื่อมั่นว่าภายในสิ้นปี 2557 ประเทศไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ราว 9 - 10 ล้านตัน เกินเป้าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งหากทำได้ประเทศไทยจะกลับขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดอันดับ 1 ของโลกอีกครั้ง ขณะที่สินค้ากุ้งยังต้องเผชิญการแข่งขันด้านผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นและราคาขายที่ต่ำกว่าจากประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่งผลให้คู่ค้าตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น หันไปซื้อจากประเทศคู่แข่งแทน โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ไทยส่งออกกุ้งแช่แข็งและแปรรูปมูลค่า 39,657.50ล้านบาท ปริมาณ 1 แสนตัน ลดลงร้อยละ 29.5

………………………………………………………..

รายละเอียดเพิ่มเติม : สุขกมล งามสม โทร. 089 484 9894

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!