- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 06 October 2022 18:20
- Hits: 1668
ก.อุตฯ ชู 38 สถานประกอบการท็อปฟอร์ม คว้ารางวัลเหมืองแร่สีเขียว
กระทรวงอุตสาหกรรมจัดงาน Green Mining Award 2022 มอบรางวัลเหมืองแร่สีเขียว หนุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ สอดรับนโยบาย ‘เหมืองแร่เพื่อชุมชน’
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลเหมืองแร่สีเขียว ประจำปี 2565 หรือ Green Mining Award 2022 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ดำเนินนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ ด้วยการกำกับดูแลควบคู่การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีมาตรฐานการประกอบการที่ดี มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยอยู่บนพื้นฐานของการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนใกล้เคียง เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานมอบรางวัลเหมืองแร่สีเขียวจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 โดยผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว Green Mining Award 2022 ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินตามมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Standard)
ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นที่ตั้ง 2. ด้านการลด ป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม 3. ด้านการดูแลความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของคนงานและชุมชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง
4. ด้านการมีพื้นที่สีเขียวและทัศนียภาพเรียบร้อยสะอาดตา 5. ด้านความโปร่งใสตรวจสอบได้ และ 6. ด้านการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า โดยในปีนี้ มีสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว รวมทั้งสิ้น 212 ราย ประกอบด้วย สถานประกอบการที่ได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว (รายใหม่) จำนวน 38 ราย รางวัลรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวต่อเนื่องดีเด่น ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่มีการรักษามาตรฐานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปี และมีคะแนนเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 16 ราย และรางวัลรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว จำนวน 158 ราย
“กพร. ในฐานะหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการและกำกับดูแลอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน ได้มุ่งเน้นให้มีการทำเหมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ให้ความสำคัญต่อการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ภายใต้นโยบาย ‘เหมืองแร่เพื่อชุมชน’ เพื่อให้เหมืองแร่มีการพัฒนาเติบโตและอยู่คู่ชุมชนได้อย่างแท้จริง” นายนิรันดร์ กล่าวทิ้งท้าย