- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 22 September 2022 11:11
- Hits: 1335
ก.อุตฯ เร่งผลักดันแผนการดำเนินงานด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ตาม IEC ลดข้อกีดกันทางการค้าให้ผู้ส่งออกไทย
กระทรวงอุตสาหกรรม ผลักดันแผนการดำเนินงานด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยรองรับแผนยุทธศาสตร์ของ IEC ที่จะประกาศใช้ในปี 2566 เน้นพัฒนาศักยภาพด้านมาตรฐานสาขาอัจฉริยะ(SMART) เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยผลิตและส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปในทิศทางเดียวกับสากลขจัดข้อกีดกันทางการค้าที่มาในรูปแบบกฎระเบียบด้านมาตรฐาน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งผลักดันแผนการดำเนินงานด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์(International Electrotechnical Commission – IEC) ที่จะประกาศใช้ต้นปี 2566 โดยยังคงให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อน BCG Economy Model และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าของไทยก้าวสู่สังคมดิจิทัลทัดเทียมกับประชาคมโลกได้โดยที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องไม่เสียโอกาสในการแข่งขันทางการค้ากับต่างประเทศด้วย” นายสุริยะฯ กล่าว
นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมาตรฐานเทคนิคทางไฟฟ้าระหว่างประเทศ (บอร์ด กมฟท.) กล่าวว่า บอร์ด กมฟท. ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและพัฒนางานมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ IEC เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยมีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น
โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นฝ่ายเลขานุการซึ่งในการประชุมประจำเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบกรอบแผนการดำเนินงานด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ให้รองรับสังคมดิจิทัลที่มีความปลอดภัย รวมทั้งพัฒนามาตรฐานและการตรวจสอบรับรองสาขาอัจฉริยะ (SMART) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก
พร้อมทั้งจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย และในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไปในเดือนมีนาคม 2566 จะเชิญผู้แทนจาก IEC มานำเสนอแผนยุทธศาสตร์ของ IEC เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนการดำเนินงานด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยด้วย
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อแผนการดำเนินงานด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยแล้วเสร็จ สมอ.จะเร่งดำเนินการจัดทำมาตรฐานให้สอดคล้องกับแผนดังกล่าว เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการผลิตสินค้า ซึ่งจะทำให้การออกแบบ การผลิต และการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นที่ยอมรับของสากล รวมทั้ง ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกของไทยให้สามารถค้าขายได้ในตลาดโลก และขจัดข้อกีดกันทางการค้าที่มาในรูปแบบของกฎระเบียบด้านมาตรฐานต่างๆ ได้
นอกจากการจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าวแล้ว ในปีนี้ประเทศไทยยังได้ส่งผู้แทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เข้าร่วมโครงการ IEC Young Professional ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโอกาสที่บุคลากรรุ่นใหม่ของไทยจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการกำหนดมาตรฐาน และการตรวจสอบรับรองกับ IEC รวมถึงได้มีโอกาสเข้าร่วมกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อจะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยต่อไป เลขาธิการ สมอ. กล่าว