- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 15 September 2022 22:44
- Hits: 1734
ทีเส็บ ชู ‘MICE Premium’ ส่งเสริมสินค้าอัตลักษณ์ชุมชนทั่วไทย ดันไมซ์ซิตี้เพิ่มรายได้จากของที่ระลึก
ทีเส็บพัฒนาไมซ์ภูมิภาค นำอัตลักษณ์ชุมชนมาใช้ผลิตสินค้าป้อนการจัดงานไมซ์ ภายใต้กิจกรรม “Product MICE Premium” ยกระดับการพัฒนาสินค้าผ่าน วัฒนธรรม วิถีชีวิตและทรัพยากรในชุมชน สร้างโอกาสต่อยอดธุรกิจ ปลุกตลาดของที่ระลึกสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์มูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า “ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ทีเส็บพัฒนาโครงการไมซ์สร้างสรรค์ รวมพลังชุมชนทั่วไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำอัตลักษณ์ชุมชนมาสร้างเสน่ห์ที่แตกต่างให้กับการจัดงานไมซ์ และสร้างความประทับใจให้นักเดินทางไมซ์ที่มาทำกิจกรรมไมซ์ในพื้นที่ ซึ่งกิจกรรมสำคัญภายใต้โครงการ คือ “Product MICE Premium” หรือการนำสินค้าและบริการของท้องถิ่นมาต่อยอดและพัฒนาเป็นสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ อาทิ การจัดเลี้ยงอาหาร ของว่าง ของชำร่วย หรือของฝาก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าหรือบริการของชุมชนในพื้นที่
จากข้อมูลการจัดประชุมและงานแสดงสินค้าในประเทศไทย พบว่ามีมูลค่าตลาดของที่ระลึกสำหรับการจัดงานไมซ์ปีละ 2,100 ล้านบาท สัดส่วนของที่ระลึกชาวต่างประเทศ 400 ล้านบาท และของที่ระลึกชาวไทย 1,700 ล้านบาท เปิดโอกาสทางการตลาดให้กับไมซ์ซิตี้ทุกภูมิภาค สามารถใช้ทรัพยากร วัตถุดิบ ตลอดจนการขายสินค้าชุมชนคุณภาพดีที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ใช้ไมซ์เป็นเครื่องมือกระจายรายได้ และสร้างโอกาสต่อยอดเศรษฐกิจภูมิภาคทั่วประเทศ”
ทีเส็บ คัดเลือกสินค้าชุมชนสำหรับการจัดงานไมซ์จากองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และวัตถุดิบของชุมชน จากนั้นจึงเข้าไปร่วมพัฒนา แปรรูปลักษณ์สินค้า และบรรจุภัณฑ์ให้มีมาตรฐานเหมาะสมตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายตลาดไมซ์ ทั้งสินค้าของที่ระลึกประจำถิ่น และอาหารที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น โดยทำงานร่วมกับชุมชนใน 3 ภูมิภาค คือ ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปัจจุบันมีสินค้ารวมทั้งสิ้น 15 รายการ อาทิ
ภาคใต้ – กระเป๋าผ้าลายสายแร่ จากชุมชนบ้านนาคา ขนมหน้าแตก จากชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต พายสับปะรด จากชุมชนบ้านบางโรง
ภาคเหนือ – กระเป๋าคลัตช์ จากชุมชนออนใต้ ชากุหลาบอินทรีย์ จากสวนบัวชมพู ที่ใส่น้ำหอม อโรม่า จากชุมชนนันทาราม
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – หมวกไหมอีรี่ จากชุมชนผ้าไหมหนองหญ้าปล่อง เส้นพาสต้าโปรตีนจิ้งหรีด จากวิสาหกิจชุมชนฅนค้นแมลง เกลือสินเธาว์ (Dinosaur Rock Salt) จากชุมชนกลุ่มผลิตสมุนไพรไทยบ้านบ่อ
ด้านการพัฒนาสินค้าบริการและส่งเสริมการตลาด “Product MICE Premium” ทั้ง 3 ภูมิภาค ให้เหมาะสมกับสินค้าและพื้นที่ มีดังนี้
สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคใต้ ร่วมมือกับพันธมิตรในพื้นที่ และจัดทำเวิร์กชอปกับเจ้าของสินค้าบริการในชุมชน รวมถึงจัดหาที่ปรึกษาด้านการทำสินค้าพรีเมียมมาให้คำแนะนำ พร้อมนำเสนอสินค้าผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ของทีเส็บและพันธมิตร ในปีนี้ได้ขยายการทำงานร่วมกับจังหวัดภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และระนอง โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จัดงาน “ไมซ์ บาร์ซาร์” เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมการตลาดและเจรจาต่อยอดธุรกิจสำหรับ “Product MICE Premium” ขึ้นเป็นครั้งแรกที่จังหวัดภูเก็ต และประสบความสำเร็จอย่างสูง มีผู้ผลิตสินค้าจากไมซ์ซิตี้ทั่วประเทศเข้าร่วมงานกว่า 28 ราย ในส่วนของผู้ซื้อประกอบด้วยองค์กร สมาคมธุรกิจภาคใต้ 27 แห่ง และองค์กร สมาคมจากภาคต่างๆ อีก 10 แห่ง มีผู้ซื้อจากทั้งนอกและในพื้นที่ภาคใต้ รวม 68 ราย ผู้ขาย 16 ราย เกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจ 381 คู่
สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคเหนือ ส่งเสริมการตลาด “Product MICE Premium” โดยสร้างเวทีเจรจาธุรกิจให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ อาทิ ดอยตุง วิสาหกิจเพื่อสังคมประชารัฐรักสามัคคี รวมถึงบริษัทผู้ให้บริการด้านจัดการการเดินทาง (Destination Management Company - DMC) ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งมุ่งเน้นให้ความรู้ชุมชนในการนำ Soft Power มาใช้สร้างสรรค์สินค้าบริการ โดยปีนี้ขยายกิจกรรมจากจังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มเติมไปยังสุโขทัย และพิษณุโลก โดยดำเนินงานกับภาคเอกชน อาทิ ดิ อิมพีเรียล โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ พิษณุโลก นำวัตถุดิบพื้นถิ่นมาทำเมนูอาหารทางเลือกที่แสดงอัตลักษณ์จังหวัด พร้อมผลักดันสินค้าเข้าสู่การจัดงานสำคัญของจังหวัด อาทิ ผลักดันผลิตภัณฑ์กล้วยห่อธัญพืชของพิษณุโลก ให้เป็นอาหารว่างสำหรับนักปั่นจักรยานที่เข้าร่วมงาน L'Etape Phitsanulok by Tour de France 2022 ที่จะจัดขึ้นเดือนธันวาคมนี้
สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้นส่งเสริมการตลาด และการขายครบวงจร จัดทำข้อมูลประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อออนไลน์ จัดเวทีเจรจาธุรกิจในพื้นที่ และร่วมบูรณาการแผนงานกับหอการค้า สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวประจำไมซ์ซิตี้ทั้ง 3 เมือง คือ ขอนแก่น นครราชสีมา และอุดรธานี พร้อมพิจารณาแผนการขยายกิจกรรมในจังหวัดที่มีศักยภาพได้แก่ บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี เพื่อพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ไมซ์ของอีสานป้อนเข้าสู่ตลาดไมซ์ให้กับสถานที่จัดงาน ได้แก่ โรงแรม รวมถึงศูนย์ประชุมและงานแสดงสินค้าในพื้นที่
นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนชุมชนพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อตอบโจทย์นักเดินทางไมซ์ ที่ขณะนี้มีเทรนด์ความต้องการสัมผัสประสบการณ์วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ผลิตภัณฑ์ ของชำร่วย และของฝาก ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2566 ทีเส็บเตรียมแผนจัดงานใหญ่ต่อยอดส่งเสริม “Product MICE Premium” ได้แก่ งาน “ไมซ์ บาร์ซาร์” ณ ภาคใต้ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และงาน “MICE Mart” เปิดตลาดสินค้า ISAN MICE ณ จ.ขอนแก่น ที่เน้นการเจรจาธุรกิจของผู้ประกอบการทั้งหมดในภาคอีสานอีกด้วย”
A9607