- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 21 August 2022 08:33
- Hits: 4163
กรมโรงงานอุตสาหกรรม จับมือ ภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 54 พื้นที่ 39 จังหวัด สู่ต้นแบบ ‘เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม’ ยกระดับเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และปรับสมดุลสิ่งแวดล้อม
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ครั้งที่ 8-1/2565 โดยมี นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางนิศากร วิศิษฎ์สรอรรถ ที่ปรึกษาด้านการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ กระทรวงมหาดไทย นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางบุปผา กวินวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนจาก 39 จังหวัด กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) เข้าร่วมประชุม
เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีที่อยู่ในคณะกรรมการฯ เสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (พ.ศ. 2566 - 2570) แผนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กระบวนการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และแผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในครั้งนี้ เป็นการรับทราบ
1. ความก้าวหน้าการดำเนินงานการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งผลปรากฎว่ามีเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะที่ 1 จำนวน 18 พื้นที่ 15 จังหวัด ผ่านเกณฑ์การประเมินความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับที่ 4 การพึ่งพาอาศัย (Symbiosis) จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดระยอง 2 พื้นที่ จังหวัดปทุมธานี 1 พื้นที่ และจังหวัดนครราชสีมา 1 พื้นที่ และผ่านเกณฑ์การประเมินระดับที่ 3 ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (Resource Efficiency) จำนวน 14 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดนครปฐม ฉะเชิงเทรา ราชบุรี สุราษฎร์ธานี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น ปทุมธานี สระบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี ปราจีนบุรี จังหวัดละ 1 พื้นที่ และ สงขลา 2 พื้นที่
นอกจากนี้ ในส่วนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับที่ 1 อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างผาสุก (Eco – Champion) จำนวน 36 แห่ง ระดับที่ 2 พัฒนาอุตสาหกรรมให้ยั่งยืนบนพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม (Eco – Excellence) จำนวน 15 แห่ง และระดับที่ 3 พัฒนาอุตสาหกรรมให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า (Eco – World Class) จำนวน 5 แห่ง
2. ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการประยุกต์ใช้หลักการเอื้อประโยชน์ระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน และการใช้สารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทย มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเลิกใช้สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ซึ่งดำเนินงานโดย UNIDO”
นายภานุวัฒน์ กล่าวต่อว่า ภายใต้นโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กำหนดให้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นเครื่องมือหลักในการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและอุตสาหกรรม เป็นการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล และความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างบูรณาการ
โดยกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย จะเร่งส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับโรงงานอุตสาหกรรม ในพื้นที่เป้าหมาย 39 จังหวัด ให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวหรือโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่มีการพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการผลิต ประหยัดพลังงาน ลดการใช้ทรัพยากร ลดการปลดปล่อยมลพิษ
รวมทั้งประกอบกิจการไปสู่การเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบ รวมทั้งให้การสนับสนุน พัฒนา ยกระดับ และขับเคลื่อนพื้นที่เป้าหมายให้เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยผ่านกลไกโครงสร้างการบริหารการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับจังหวัด ระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการกำหนดกลยุทธ์และแผนงาน
โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวสู่ ‘เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม’ สร้างสมดุล 5 มิติ ได้แก่ กายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องตามนโยบาย BCG Model ของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการเกิดของเสียโดยจัดการใช้ทรัพยากรภายในสถานประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ด้าน นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2565 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งจะเป็นแผนระดับที่ 3 ของประเทศ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อเป็นกรอบและทิศทางการดำเนินการ หรือแผนในเชิงปฏิบัติที่มีความชัดเจนตามภารกิจของส่วนราชการที่สอดคล้องและสนับสนุนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศ
ซึ่งมีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคีเครือข่ายนำไปสู่การแก้ไขประเด็นข้อจำกัด ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมขับเคลื่อนยกระดับการพัฒนามุ่งสู่ต้นแบบ ‘เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม’ควบคู่ไปกับการสร้างชุมชนและเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน
โดยเป้าหมายของร่างแผนฯ ภายในปี พ.ศ. 2570 จำนวนพื้นที่ที่พัฒนาเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวม 54 พื้นที่ 39 จังหวัด จะมีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของพื้นที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 หรือจำนวนธุรกิจชุมชนที่เกิดจากความร่วมมือของอุตสาหกรรมและชุมชนมีมากขึ้นร้อยละ 5 จำนวนคนในพื้นที่มีงานทำเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 หรือระดับความพึงพอใจของประชาชนในพื้นที่ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3.2 ล้านตัน ใน 54 พื้นที่ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ชุมชน 0.5 ล้านตัน
สำหรับพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 54 พื้นที่ 39 จังหวัด กำหนดแผนการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 จำนวน 18 พื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง (2 พื้นที่) ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี (2 พื้นที่) ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ราชบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา (2 พื้นที่)
ระยะที่ 2 จำนวน 4 พื้นที่ 4 จังหวัดใหม่ ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร สระแก้ว ตาก และตราด และ11 พื้นที่ใหม่ ใน 11จังหวัดเดิม ได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา และราชบุรี รวมทั้งสิ้น 15 พื้นที่
ระยะที่ 3 จำนวน 21 พื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ อุดรธานี อุบลราชธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช กระบี่ และภูเก็ต (2 พื้นที่)