- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 02 July 2022 14:31
- Hits: 3801
รัฐมนตรีสุริยะฯ บรรยายพิเศษ หัวข้อ’ก้าวสู่อนาคตของภาคอุตสาหกรรมไทยในยุค Next Normal’ ในงาน FTI Expo 2022: SHAPING FUTURE INDUSTRIES for STRONGER THAILAND
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม บรรยายพิเศษ หัวข้อ ‘ก้าวสู่อนาคตของภาคอุตสาหกรรมไทยในยุค Next Normal’ ในงาน FTI Expo 2022 : SHAPING FUTURE INDUSTRIES for STRONGER THAILAND โดยมีนายธีระยุทธ วาณิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมงาน ณ ห้องลีลาวดี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การก้าวสู่อนาคตของภาคอุตสาหกรรมไทยในยุค Next Normal โดยเฉพาะการเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ หรือการใส่ใจด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และด้านสุขอนามัย ที่ได้กลายเป็นกฎเกณฑ์ของโลกสากลที่กดดันให้กรอบการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นเรื่องปกติที่เราเห็นได้ทั่วไป
สิ่งสําคัญของการดำเนินธุรกิจในยุค Next Normal ก็คือ การปรับตัว เพราะเมื่อโลกเปลี่ยนธุรกิจก็ต้องปรับ ซึ่งนโยบายด้านอุตสาหกรรมของรัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้กําหนดวิสัยทัศน์ไว้ได้ช่วยชี้นำให้อุตสาหกรรมไทย เดินมาอย่างถูกทิศถูกทาง
และเป็นเกราะป้องกันผลกระทบของภัยคุกคามที่ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ตั้งแต่ในเรื่องของนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ได้เข้ามาช่วยตอบโจทย์ รองรับและบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนที่ได้กดดันให้เกิดกระแสการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนไปยังประเทศใหม่ๆ รวมทั้งไทย ซึ่งในจุดนี้รัฐบาลได้เตรียมแผนรองรับบริษัทต่างชาติ ผ่านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นโยบายการลงทุนและการพัฒนาในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve
ซึ่งจะมุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพและสอดรับกับพัฒนาการของโลกแห่งอนาคต เช่น นโยบายยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปสู่อุตสาหกรรม EV นโยบายยกระดับ ‘เกษตรกรรม’ ไปสู่ ‘เกษตรอุตสาหกรรม’ เป็นตัวชูโรงในการนำแนวคิดทางวิศวกรรมและหลักการสมัยใหม่ในภาคอุตสาหกรรมร่วมกับเทคโนโลยีเพื่อการจัดการแบบอัจฉริยะหรือ Smart Farming สู่ภาคเกษตรของไทย
และยังเป็นตัวเร่งการขับเคลื่อนการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสู่การประยุกต์ใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมและสถานประกอบการแปรรูปการเกษตร ทําให้เห็นถึงการสร้างเศรษฐกิจภูมิภาคด้วยโมเดลที่ขับเคลื่อนด้วยการเกษตร หรือ Agricultural driven Economy รวมทั้งนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย ไปสู่ ‘อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต’ ซึ่งเป็นทิศทางที่สามารถตอบโจทย์ของสถานการณ์วิกฤตการขาดแคลนอาหารที่กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก
นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์และเครื่องมือแพทย์ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ซึ่งการปูพื้นการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวทางดังกล่าว เป็นส่วนสําคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการและรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ในระดับดีจนเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ
. ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา นอกจากจะมีมาตรการสนับสนุนต่างๆ ดังกล่าวแล้ว รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้ดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในทุกภูมิภาค เพื่อรองรับแรงงานกลับสู่ท้องถิ่น ผ่านกลไกการพัฒนาชุมชนดีพร้อมและเกษตรอุตสาหกรรม โดยในส่วนของการพัฒนาชุมชนดีพร้อม กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการมาตรการ ‘7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม’
ประกอบด้วย แผนชุมชนดีพร้อม คนชุมชนดีพร้อม แบรนด์ชุมชนดีพร้อม ผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม เครื่องจักรชุมชนดีพร้อม ตลาดชุมชนดีพร้อม และเงินหมุนเวียนดีพร้อม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาค
. ดังนั้น ทิศทางการก้าวสู่อนาคตของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยต่อจากนี้ไป จะต้องเป็น ‘การเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน’ หรือ ‘Balanced and Sustainable Growth’ที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจะต้องตอบโจทย์ 3 มิติ ทั้งในเรื่องของ Economic Success, Social Responsibility a Environmental Conservation เมื่อประกอบกับเจตนารมณ์ของรัฐบาล ที่จะลดช่องว่างและเร่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในภูมิภาคให้สามารถเติบโตไปด้วยกัน
กรอบการกำหนดนโยบายด้านอุตสาหกรรมของประเทศไทยในยุคต่อไป จึงจะเป็นการชี้นำและกําหนดนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจ อุตสาหกรรมไทยให้สามารถ ‘เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน’ หรือ ‘Balanced and Sustainable Growth’ โดยมุ่งความสําเร็จในทั้ง 4 มิติ ควบคู่กัน คือ มิติที่ 1 ด้าน Economic Success มิติที่ 2 ด้าน Social Responsibility มิติที่ 3 ด้าน Environmental Conservation ควบคู่ไปกับ มิติที่ 4 ด้านการกระจายความเจริญด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และคนฐานราก ผ่านกลไกการพัฒนาชุมนดีพร้อม และการสร้างภาค เกษตรอุตสาหกรรม ของประเทศไทยให้เข้มแข็ง
นายสุริยะ กล่าวทิ้งท้ายว่า“ผมเชื่อมั่นว่าการนําพาภาคอุตสาหกรรมและประเทศไทยไปสู่ความสําเร็จใน 4 มิติดังกล่าวสามารถสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ไม่ยาก หากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัยและพัฒนา รวมถึงสถาบันการเงินต่างๆ สานพลังและร่วมกันเดินไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกัน เราจะพัฒนาและขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยในยุค Next Normal ให้มีความเข้มแข็งในทั้ง 4 มิตินี้ไปด้วยกัน
เราจะมีการสานพลังระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินผ่านทางการลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ FTI EXPO 2022 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสานพลังในเรื่องอื่นๆ ระหว่างภาครัฐและเอกชนที่จะมีต่อไป เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงเป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าสืบไป”