- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 29 May 2014 22:18
- Hits: 3805
บสย.ขอคสช. 3.7 พันล.อุ้ม SMEs ช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องต่อลมธุรกิจ
แนวหน้า : บสย.ชง 3 มาตรการ คสช.ของบ 3.7 พันล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอี-รายย่อย-โอท็อป ตามติดด้วย 2 มาตรการ ในสต๊อกช่วยลูกค้าเก่า เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง ระบุในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวลูกค้าไม่มีปัญญาจ่ายหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มบสย.ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องจ่ายค่าเสียหายให้แบงก์พุ่งถึงเดือนละ 300 ล้านบาท
นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอ 3 มาตรการ เพื่อขออนุมัติวงเงินงบประมาณรวมกว่า 3,700 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือลูกค้าทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลูกค้ารายย่อย และผู้ประกอบการกลุ่มโอท็อป (OTOP) ที่กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยอยู่ระหว่างเสนอกระทรวงการคลังให้เสนอไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้
สำหรับ 3 มาตรการ ที่จะเสนอคสช.ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 จะขออนุมัติ ให้รัฐจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนผู้ประกอบการ
เอสเอ็มอีในปีแรก ของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 วงเงิน 55,000 ล้านบาท โดย บสย.ขอพิจารณาอนุมัติงบประมาณโครงการนี้ จำนวน 962.50 ล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ประมาณ 1.1 หมื่นราย เป็นวงเงินสินเชื่อเกิดใหม่ในระบบ 9.4 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 5.34 แสนล้านบาท
ส่วนมาตรการที่ 2 จะขออนุมัติ ให้รัฐให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการกลุ่มรายย่อย ไมโครเอสเอ็มอี ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย วงเงิน 5,000 ล้านบาท ยอดค้ำประกันไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย โดย บสย.ขอพิจารณาอนุมัติงบประมาณโครงการนี้วงเงิน 1,150 ล้านบาท เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 5 หมื่นราย โดยคาดว่าวงเงินสินเชื่อเกิดใหม่ในระบบสถาบันการเงิน 5,000 ล้านบาท ส่งผลให้สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 4.85 หมื่นล้านบาท
ขณะที่มาตรการที่ 3 จะขออนุมัติให้รัฐเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการในโครงการค้ำประกันสินเชื่อโอท็อปวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ยอดค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่ได้รับการลงทะเบียนจากโครงการรัฐ โดยบสย. ขอพิจารณาอนุมัติงบประมาณโครงการนี้ 1,600 ล้านบาท เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการโอท็อปและวิสาหกิจชุมชน เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 1 หมื่นราย คาดว่าจะทำให้สินเชื่อเกิดใหม่ในระบบสถาบันการเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ 9.7 หมื่นล้านบาท
นายวิเชษฐ กล่าวว่า นอกจาก 3 มาตรการที่เตรียมเสนอไปยัง คสช.เพื่อขอเงินงบประมาณมาชดเชยค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โครงการค้ำประกันแล้ว ยังมีอีก 2 มาตรการที่ บสย.สามารถเข้าดำเนินการเองได้เลย โดยจะเข้าช่วยลูกค้าเดิมที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งประกอบด้วย มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน โดยการยืดระยะเวลาการชำระออกไปอีก 6 เดือน โดยมีลูกค้าที่จะได้รับการช่วยเหลือจำนวน 5 หมื่นราย คิดเป็นภาระค้ำประกัน 1.65 แสนล้านบาท และมาตรการที่ 2 ทางบสย.ได้มีการหารือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เข้าให้ความช่วยเหลือ โดยสสว. จะเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ในปีแรก คิดเป็นวงเงิน 262.50 ล้านบาท มีวงเงินค้ำประกันรวมไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อPGS 5 คาดช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย
“5 มาตรการดังกล่าว ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้แบงก์ต่างๆ ปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาแบงก์ต่างๆระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ยอดค้ำประกัน บสย.ชะลอตามไปด้วยขณะที่ยอดเอ็นพีแอลมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดเคลมที่ บสย.จะต้องจ่ายค่าความเสียหายให้กับแบงก์เพิ่มตามไปด้วยโดยสูงถึง 300 ล้านบาท ต่อเดือนจากยอดเคลมทั้งปี 2556 ที่มีเพียง 2,000 ล้านบาท” นายวิเชษฐ กล่าว
บสย.ผุด 5 มาตรการอุ้ม SME
บ้านเมือง : นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสิน เชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ว่า บสย. ได้วาง "5 มาตรการ บสย. เพื่อ SME" โดยจะนำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้พิจารณาเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.มาตรการพักการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน โดยการยืดระยะเวลาการชำระออกไปอีก 6 เดือน โดยมาตรการนี้จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าเดิม บสย. ที่จะถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ธ.ค.57 โดยมีลูกค้า บสย. ที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว 50,067 ราย ภาระค้ำประกัน 165,000 ล้านบาท ซึ่ง บสย.จะช่วยให้เกิดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ 2,800 ล้านบาท
2.มาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ระหว่างการขอสินเชื่อ เบื้องต้นได้หารือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อขอพิจารณาสนับสนุนเงินค่าธรรมเนียมให้กับลูกค้า ทั้งนี้ สสว. จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทน SME ในปีแรก คิดเป็นเงินสนับสนุน 262.50 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันรวมไม่เกิน 15,000 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 ช่วยผู้ประกอบการได้ ไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 26,000 ล้านบาท สร้างเงินทุนหมุนเวียน 146,000 ล้านบาท 3.นำเสนอขออนุมัติ ให้รัฐจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทน SME ในปีแรก ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 วงเงิน 55,000 ล้านบาท โดยขอพิจารณาอนุมัติงบประมาณ 962.50 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือสภาพคล่อง SME ได้ 11,000 ราย สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ 534,000 ล้านบาท
4.นำเสนอขออนุมัติ ให้รัฐให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการกลุ่มรายย่อย Micro SME ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยขออนุมัติงบ 1,150 ล้านบาท คาดว่าช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 50,000 ราย ช่วยสร้างอาชีพให้กับธุรกิจในครัวเรือน 150,000 คน ลดต้นทุนการกู้ยืมเงินนอกระบบ 15-30% ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 5,000 ล้านบาท สร้างเงินทุนหมุนเวียนได้ 48,500 ล้านบาท และ 5.นำเสนอขออนุมัติให้รัฐ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่ม OTOP ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยของบ 1,600 ล้านบาท คาดว่าช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 10,000 ราย