- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 29 June 2022 22:17
- Hits: 5616
เปิดตัวสมาคมเครือข่ายอุตสาหกรรมชุบโลหะไทย พร้อมเปิดตัวนายกสมาคมคนแรก มุ่งเน้นพัฒนาคน-แก้ปัญหาในการทำงาน-สร้างเครือข่าย-ทำวิจัยพัฒนา เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมชุบโลหะไทย
เปิดตัวสมาคมน้องใหม่ในแวดวงอุตสาหกรรมชุบโลหะไทย ภายในงาน “Surface & Coatings 2022” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน “Manufacturing Expo 2022” มหกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุน โดยสมาคมน้องใหม่นี้มีชื่อว่า “สมาคมเครือข่ายอุตสาหกรรมชุบโลหะไทย” ส่ง “ศ.ดร. ยุทธนันท์ บุญยงมณีรัตน์” นั่งแท่นนายกสมาคมคนแรก มุ่งเน้น 4 ภารกิจหลักเร่งด่วน ทั้งการพัฒนาบุคลากร การแก้ปัญหาในการทำงาน สร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกัน และทำวิจัยพัฒนา เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้พร้อมก้าวสู่เวทีโลก
ศ.ดร. ยุทธนันท์ บุญยงมณีรัตน์ นายกสมาคมเครือข่ายอุตสาหกรรมชุบโลหะไทย (Thailand ElectroPlating Industrial NETwork Association : TEPNET) เปิดเผยในงานสัมมนา Surface & Coatings Forum ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Surface & Coatings ว่า สมาคมฯ เกิดจากการรวมตัวจากหน่วยงาน 3 ฝ่าย (Triple helix) คือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษาและวิจัยพัฒนา และภาครัฐผู้สนับสนุนนโยบาย เพื่อร่วมกันดำเนินกิจกรรมหลังจากที่มุ่งมั่นรวมตัวกันมาอย่างต่อเนื่องถึง 10 ปี ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนด้านการพัฒนาด้วยนวัตกรรมจาก สอวช. (หรือสวทน. เดิม) และได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากสถาบันวิจัย Fraunhofer ของเยอรมัน รวมถึงยังมีความร่วมมือกับสมาคมชุบแห่งไต้หวัน (Taiwan Surface Finishing Association) จนได้รับการยอมรับจากตัวแทนภาครัฐของไทยและประเทศเยอรมนีถึงปณิธาณความมุ่งมั่นร่วมกันของการรวมตัวของทั้ง 3 ภาคส่วนดังกล่าว
“อุตสาหกรรมชุบโลหะ จะแทรกซึมอยู่ในหลายๆ อุตสาหกรรมหนักของประเทศไทย อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับ สุขภัณฑ์ เครื่องจักรต่างๆ รวมไปถึงอุตสาหกรรมใหม่ เครื่องมือแพทย์ หรือชิ้นส่วนอากาศยานและระบบราง มีมูลค่าทางการตลาดสูงถึงปีละกว่า 30,000 ล้านบาท จากการรวมตัวกันของกลุ่มเครือข่าย จนเป็นสมาคมในวันนี้ ภารกิจหลักสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ จะมุ่งเน้นใน 4 ด้านคือ การพัฒนาบุคลากร ทั้งบุคลากรใหม่ที่กำลังจะเข้ามาสู่อุตสาหกรรมนี้ และการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว รวมถึงการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมงานชุบ การสร้างเครือข่ายเพื่อความร่วมมือกัน และการทำวิจัยพัฒนา เพื่อที่จะสามารถพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมชุบโลหะของไทยให้ก้าวสู่ระดับโลกได้ต่อไป” ศ.ดร.ยุทธนันท์ กล่าว
นายสุพจน์ สุขพิศาล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการพัฒนาบุคลากรเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมงานชุบโลหะนั้น นอกจากการให้ความรู้ความชำนาญในเนื้องานแล้ว ยังต้องเสริมเรื่องของทัศนคติที่มีต่องานควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้บุคลากรมีการเติบโตในสายงานได้อย่างมั่นคง ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรบุคคลนั้น สถานประกอบการไม่ควรทำเองแต่เพียงลำพัง แต่ควรมีการรวมกลุ่ม สร้างพันธมิตรให้เกิดเป็นเครือข่าย เพื่อนำศักยภาพจากสมาชิกของเครือข่ายมาใช้พัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป
นายพินัย ศิรินคร Executive Vice President บริษัท แอร์ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด และอุปนายกฝ่ายพัฒนาบุคลากร สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) กล่าวว่า ในอดีต การเรียนการสอนด้านงานชุบ ไม่ได้มีหลักสูตรชัดเจน หากจะมีก็เป็นเพียงวิชาเลือก ทั้งที่งานชุบเป็นอุตสาหกรรมที่สอดแทรกอยู่กับอุตสาหกรรมหนักมาเป็นเวลานาน ทำให้บุคลากรสายงานชุบที่มีความชำนาญยังมีไม่เพียงพอกับจำนวนสถานประกอบการที่มีอยู่ ผู้ที่เข้ามาในสายงานชุบ ต้องมาเรียนรู้เพิ่มเติมเมื่อเข้าสู่ระบบการทำงานแล้ว
ดร. อรทัย โยธินรุ่งเรือง สุดสงวน ผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ กล่าวว่า จากปัญหาความไม่พร้อมของบุคลากรและอุปกรณ์การเรียนการสอนด้านงานชุบ ทำให้สถานศึกษาเลือกที่จะไม่เปิดสอนวิชาดังกล่าว กลายเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมงานชุบที่ไม่สามารถหาคนมาทำงานได้ ในการแก้ไขปัญหานี้ นอกจากการจัดทำหลักสูตรร่วมกันแล้ว ภาคเอกชนหรือสถานประกอบการควรให้การสนับสนุนด้านอุปกรณ์และบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญมาร่วมสอน การเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าไปฝึกงาน และการให้โอกาสทำงานเมื่อเรียนจบ ซึ่งจะทำให้สถานประกอบการนอกจากจะได้บุคลากรที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการไปทำงานแล้ว ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ สำหรับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC ได้มีการร่วมมือกับผู้ประกอบการ และจัดทำหลักสูตรร่วมกัน ทั้งแบบทวิภาคีและไตรภาคี เพื่อผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดให้มากที่สุด
สมาคมเครือข่ายอุตสาหกรรมชุบโลหะไทย (TEPNET) ได้รับการขึ้นทะเบียนกับทางอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สำนักงานตั้งอยู่ที่อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Science Park) ในสังกัด สวทช. ปทุมธานี
A6872