- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 28 November 2014 22:59
- Hits: 3182
อุตฯเตรียมทำเรื่องขอใช้พื้นที่ทหาร ตั้งนิคมฯขยะฯนำร่อง'กาญจนบุรี'
แนวหน้า : นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึง ความคืบหน้าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการจัดการกากอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมว่า หลังจากได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ไปหารือร่วมกับกรมการอุตสาหกรรมทหารเพื่อขอใช้พื้นที่ ซึ่งเร็วๆ นี้ กระทรวงฯ จะลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับกระทรวงกลาโหม เพื่อขอใช้พื้นที่ทหารตั้งนิคมกำจัดกากอุตสาหกรรมครบวงจร ซึ่งอาจมีหลายแห่ง แต่จะมีการเริ่มดำเนินการที่บริเวณภาคตะวันตก ในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่นำร่องและจะมีการขยายผลในพื้นที่อื่นๆต่อไป
ทั้งนี้ การจัดตั้งนิคมฯ ดังกล่าว ต้องใช้พื้นที่มากพอสมควร เพื่อเป็นเขตกันชนกับชุมชน(Buffer Zone) และลดปัญหาความขัดแย้ง ประเด็นเรื่องการจัดหาพื้นที่ว่ามีความสำคัญมากที่สุด โดยหลังจากได้พื้นที่แล้ว นโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีมาตรการทางกฎหมาย ให้ผู้ประกอบการที่มีกากขยะอุตสาหกรรมส่งกากอุตสาหกรรมมายังนิคมฯ และบังคับให้นำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ ทั้งนี้ กระทรวงฯ ตั้งเป้าหมายอย่างน้อย 6 พื้นที่ ในจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากก่อน
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกล่าวถึง ความคืบหน้าของการออกใบอนุญาตประทานบัตรของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ซึ่งนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม ได้อนุมัติไปแล้วหลายร้อยราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแปลงขนาดเล็ก แต่มี 3 เรื่องที่ยังติดอยู่ที่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แต่เรื่องที่จะมีการเร่งรัดต่อไปนั่นคือเรื่องเหมืองแร่โปแตซ ที่ใช้ในการทำปุ๋ย แร่ทองคำ และแร่ควอตซ์ ที่ใช้ในการผลิตพลังงานโซลาร์เซลล์
ทั้งนี้ ยังคงมีกรณีการขอต่อประทานบัตรที่ติดปัญหาตรงพื้นที่ตั้งที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำ หรือเขตป่า ซึ่งไม่ใช่อำนาจของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ให้ กพร.จัดทำหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าประเภทใดที่สามารถขอผ่อนผันได้ และประเภทใดที่ผ่อนผันไม่ได้ ส่วนใดอยู่ในการพิจารณาของหน่วยงานใด เพื่อให้ผู้ประกอบการจะได้ทราบแนวทางปฏิบัติต่อไป
นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) กล่าวว่า หลักการสำคัญที่ทำให้ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายต้องเร่งรัดในส่วนการนำแร่ออกมาใช้นั้น เนื่องจากปัจจุบันไทยมีแร่ที่มีมูลค่าอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะแร่โปแตช และแร่ควอตช์ ซึ่งเป็นแร่ที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่ทางการต้องการผลักดัน
ในส่วนของแร่ควอตช์ เป็นแร่ที่ใช้สำหรับการทำแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งจัดเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างการส่งเสริมให้เกิดขึ้น โดยปัจจุบันแร่ควอตช์ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์มากมีกำลังสำรองอยู่ประมาณ 100 ล้านตัน ในภาคตะวันตกของประเทศ ส่วนแร่โปแตชนั้นทั่วโลกรู้ว่าไทยเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์มากในระดับโลก แต่ภาครัฐจะเร่งส่งเสริมให้เริ่มมีการผลิตในพื้นที่ที่มีความพร้อมชุมชนไม่ต่อต้านก่อน นั่นคือ จ.ชัยภูมิ ส่วนที่จ.อุดรธานี ที่แม้จะเป็นแหล่งใหญ่ที่สุด แต่ประชาชนยังต่อต้านภาครัฐก็ต้องชี้แจงทำความเข้าใจต่อไป เพราะแม้จะมีมูลค่าต่อเศรษฐกิจสูงแต่การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด