- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 23 November 2014 16:08
- Hits: 2577
สอ.จับมือเมืองคาวาซากิ ดันกลุ่มอุตสาหกรรม เครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ ตอบดีมานด์ AEC
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้จับมือเมืองคาวาซากิ ประเทศญี่ปุ่นสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมกลุ่มเทคโนโลยีได้แก่ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ผ่าน 3 กรอบความร่วมมือได้แก่ 1. เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม ประเทศไทยกับเมืองคาวาซากิ
2. สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเมืองคาวาซากิประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทยในการขยายธุรกิจในระดับสากล และ 3. ดำเนินกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในด้านเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศ ด้วยการเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือ OtagaiBusinessConcept
ทั้งนี้ ความร่วมมือจะส่งผลให้ผู้ประกอบการประเทศญี่ปุ่นขยายฐานการผลิตในประเทศไทยและเกิดการจ้างงานในประเทศไทยมากขึ้นอีกทั้งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจเทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมญี่ปุ่น และกระบวนการบริหารจัดการเมื่อเผชิญภาวะวิกฤต ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยเพื่อรองรับและตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศอาเซียน และอาเซียน+3 ที่นำเข้าสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมจำพวกเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์จากไทย ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออก 1 ใน 10 อันดับแรกที่มีความสำคัญของไทยโดยในปัจจุบันมีผู้ประกอบการจากเมืองคาวาซากิเข้ามาลงทุนในประเทศไทยกว่า20บริษัทอาทิ ฮิตาชิ โตชิบา แคนอน และฟูจิซึ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มีโต๊ะญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่นในหลายจังหวัด คือจังหวัดไซตามะ จังหวัดอาคิตะ จังหวัดยามานาชิ จังหวัดโทโทริ จังหวัดชิมาเน่และจังหวัดไอจิ อีกทั้งความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนญี่ปุ่นอีกจำนวนมาก อาทิ การร่วมมือกันระหว่างบริษัทของทั้ง 2 ประเทศ คือ บริษัท สามมิตรมอเตอร์สแมนูแฟคเจอริง จำกัด (มหาชน)กับ บริษัท ฟอร์มคอร์ปอเรชั่น จำกัดในการศึกษาความเป็นไปได้ของรถไฟฟ้าประหยัดพลังงาน'คอมแพค อีวี (Compact EV Car)'ที่สามารถลอยและวิ่งบนผิวน้ำได้ ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายนปี 2557 ที่ผ่านมา มีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย คิดเป็นมูลค่ากว่า 109,000 ล้านบาทและคาดว่าภายในสิ้นปีจะมีมูลค่าสูงถึง 1.5แสนล้านบาท
นายปราโมทย์ วิทยาสุขผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ลงนามความร่วมมือกับเมืองคาวาซากิ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม SMEsของทั้ง2 ประเทศ ผ่านกรอบของความร่วมมือที่มีเนื้อหาสรุปได้ ดังนี้
เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับ เมืองคาวาซากิ ประเทศญี่ปุ่นเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ SMEs จากนายกเทศมนตรีเมืองคาวาซากิ และประเทศไทย สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมใน เมืองคาวาซากิและประเทศไทยในการขยายธุรกิจในระดับสากลดำเนินกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศให้มีความใกล้ชิด อาทิ การจัดโครงการแลกเปลี่ยนด้านอุตสาหกรรม การส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน หรือ'Otagai'Business Concept การจัดสัมมนาการจัดนิทรรศการและการประชุมทางธุรกิจ
นายปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมืองคาวาซากิ เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 9 ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์กลางของพื้นที่อุตสาหกรรมเคฮิน (พื้นที่อุตสาหกรรมตามแนวโตเกียว คาวาซากิและโยโกฮามา)ที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท อาทิ เครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและเคมีภัณฑ์และเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำระดับโลกเป็นจำนวนมาก อาทิ ฮิตาชิ โตชิบา แคนอน และฟูจิซึเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เมืองคาวาซากิ จะเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนโรงงานกว่า 100 โรงงาน แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นมิตร จนได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้เป็นเมืองนิเวศ หรือ อีโคทาวน์ (ECO Town) เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทยเพื่อรองรับและตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศอาเซียนและอาเซียน+3 ที่นำเข้าสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมจำพวกเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์จากไทย ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออก 1 ใน 10 อันดับแรกที่มีความสำคัญของไทยได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และพม่าเป็นต้น (ข้อมูลจาก สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์)ผ่านการใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายมารวมกันเพื่อพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่กัน ผ่านการเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือที่เรียกว่า “Otagai Business Concept”ซึ่งเป็นแนวคิดในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการผลิตระดับเครือข่ายวิสาหกิจระหว่างผู้ประกอบการ SMEs
เมืองคาวาซากิ และประเทศไทยเมื่อเผชิญปัญหาเพื่อรับมือความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบให้เกิดการติดขัดหรือหยุดชะงักได้ซึ่งส่งผลให้ไทยมีเครือข่ายวิสาหกิจช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสถานการณ์เร่งด่วน นอกจากการร่วมลงนามกับเมืองคาวาซากิครั้งนี้ยังเป็นการรักษาและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย และสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนในไทยจากความเข้มแข็งของวิสาหกิจไทยมากขึ้น
นายปราโมทย์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีโต๊ะญี่ปุ่นซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานด้านการลงทุนในการส่งเสริมและพัฒนา SMEsให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับรัฐ และในช่วงที่ผ่านมาก็ได้รับการติดต่อจากหลายจังหวัดในประเทศคือจังหวัดไซตามะ จังหวัดอาคิตะ จังหวัดยามานาชิ จังหวัดโทโทริ จังหวัดชิมาเน่และจังหวัดไอจิ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมร่วมกัน ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. ปี 2557 ที่ผ่านมา มีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย คิดเป็นมูลค่ากว่า 109,000 ล้านบาท(ข้อมูลจาก สำนักความร่วมมือการลงทุนต่างประเทศ) และคาดว่าภายในสิ้นปี 2557จะมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับเมืองคาวาซากิประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรัฐบาลท้องถิ่นลำดับที่ 7 ที่ร่วมลงนามกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกัน โดยมีนายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ นายโนริฮิโกะฟุคุดะนายกเทศมนตรีเมืองคาวาซากิ เป็นผู้ลงนาม นอกจากนี้ยังมีการลงนามความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างบริษัทของทั้ง 2 ประเทศ คือ บริษัทสามมิตรมอเตอร์ จำกัด กับบริษัท ฟอร์มคอร์ปอเรชั่น จำกัดในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟฟ้าประหยัดพลังงาน คอมแพค อีวี (Compact EV Car)ที่สามารถลอยน้ำและวิ่งต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากหากไทยเผชิญวิกฤตน้ำท่วม รวมทั้งความเป็นไปได้ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อผลิตและการพัฒนาให้เหมาะสมกับตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกยานยนต์ไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน 2557ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีข้าราชการ และนักธุรกิจญี่ปุ่น ร่วมงานเป็นจำนวนมาก นายปราโมทย์ กล่าวสรุป
สำหรับ ผู้ประกอบการที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สามารถสอบถามได้ที่ โทร. 0 2202 4426-7