- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 01 February 2022 22:47
- Hits: 6704
สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะครั้งที่ 1
เพื่อกำหนดโครงสร้างราคาซื้อ-ขายกัญชง
สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TIHTA: Thai Industrial Hemp Trade Association) นำโดย ดร.วีระชัย ณ นคร ประธานกิตติมศักดิ์ นายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคม เปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น การกำหนดโครงสร้างราคาซื้อ-ขายกัญชง ครั้งที่ 1 ผ่านระบบออนไลน์ จากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกัญชงและผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจทั่วไป โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและแนะนำแนวทางการกำหนดราคาซื้อ-ขายกัญชง ในครั้งนี้
จากการปลดล็อค และขับเคลื่อนพืชเศรษฐกิจกัญชงเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม ภาคผู้ประกอบการมีการเคลื่อนไหวในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมไปในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการนำมาประกอบอาหาร การนำมาทำพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งในประเภท อาหาร เครื่องดื่ม ยา เครื่องสำอาง อาหารเสริม อาหารสัตว์ เส้นใย และอื่นๆ อีกมากมายที่ได้มีการวิจัยและพัฒนาขึ้น ทั้งส่วนของภาครัฐ และภาคเอกชน แต่ตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็มที่ผ่านมา ยังคงขาดความชัดเจนในเรื่องราคาการรับซื้อวัตถุดิบกัญชง รวมไปถึงมาตรฐานเพื่อประกอบการรับซื้อ Biomass
ดร.วีระชัย ณ นคร ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย เป็นประธานการประชุม เผยว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็มที่ผ่านมา มีความหลากหลายในการ ซื้อ-ขาย วัตถุดิบ แต่ยังคงมีข้อถกเถียงและความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป ผู้ซื้อต้องการซื้อราคาหนึ่ง ผู้ขายต้องการขายในอีกราคาหนึ่ง ทำให้เป็นปัญหาคอขวดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นโอกาสที่ดีในการจัดเปิดประชุมรับฟังข้อแลกเปลี่ยนความเห็นโครงสร้างราคาซื้อ-ขายกัญชงในประเทศไทยให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อนำมาเป็นแนวทางการต่อยอดสู่การจัดทำราคากลางเพื่อแนะนำผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน
นายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย กล่าวเสริมช่วงอภิปรายว่า “สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทยในฐานะตัวแทนภาคผู้ประกอบการ ทั้งส่วนของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่ได้มีการร่วมทำงานเพื่อหารือแนวทางโครงสร้างราคาการซื้อ-ขาย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญอีกเรื่องของสมาคม โดยคณะกรรมการสมาคมเห็นพ้องกันว่า หลักการในการกำหนดราคากลาง คือการนำโครงสร้างต้นทุนของผู้ผลิต มาวิเคราะห์ เพื่อหาราคาอ้างอิง จึงเห็นสมควรอย่างยิ่งในการให้ภาคผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการกำหนดราคากลาง ในการ ซื้อ-ขายอย่างยุติธรรมซึ่งในการจัดอภิปรายครั้งนี้สมาคมได้มีการเชิญหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หน่วยงานกรม กอง สังกัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง มหาวิทยาลัย สมาคมผู้ผลิตอาหารเสริม ยา เครื่องสำอาง อาหารสัตว์ องค์กรอิสระ สถาบันการเงิน และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีหน้าที่ทดสอบ วิจัย และหน่วยงานในการดำเนินการเรื่องมาตรฐาน กฎหมายรวมถึงภาคผู้ประกอบการทั้งผู้ปลูก ผู้สกัด ผู้ผลิต รวมถึงนักวิชาการมาแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงความเห็น และตอบถามถามในการหารือครั้งที่ 1 นี้ เพื่อนำมากำหนดเป็นแนวทางการสรุปราคากลางเพื่อแนะนำการซื้อ-ขายวัตถุดิบกัญชง ของประเทศไทย”
“ทั้งนี้ทุกอย่างยังคงอยู่ที่ความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย สมาคมเป็นเพียงผู้แนะนำ และร่วมหาแนวทาง ซึ่งสุดท้ายทุกอย่างจะวนกลับไปที่ Demand Supply ซึ่งสิ่งสำคัญคือการช่วยสร้างมาตรฐาน และองค์ความรู้ที่ดี ให้กับผู้ผลิต และผู้บริโภค จึงอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมแชร์ข้อมูลจริง เพื่อนำมาหารือ ให้ผู้ปลูกสามารถอยู่รอดได้ และผู้ผลิตสามารถไปต่อได้” นายพรชัย กล่าวเสริม
ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นว่าสมาคมถือเป็นหนึ่งองค์กรที่มีความสามารถในการร่วมจัดทำโครงสร้างราคากลาง เพื่อสร้างและกำหนดราคาการซื้อ ขาย รวมถึงข้อแนะนำว่านอกเหนือจากการกำหนดราคากลางแล้ว การจัดทำ Market place และทะเบียนผู้ประกอบการเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการในภาคส่วนต่างๆ ได้เล็งเห็นถึงปลายทางได้ชัดเจนมากขึ้น และแนวโน้มในการวางมาตรฐานการผลิตของตนเองและการลงทุนเช่นกัน
นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ให้ความเห็นว่า “จากการขับเคลื่อนที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญที่ยังคงทำให้เกิดข้อจำกัดในการพัฒนาพืชเศรษฐกิจกัญชงของไทย คือ
1. การขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมปลายน้ำ ยังคงมีวัตถุดิบที่ไม่เพียงพอ
2. ราคาวัตถุดิบที่มีราคาไม่ชัดเจนและตลาดยังคงผันผวน หรืออาจเป็นเพราะเศรษฐกิจภาพรวม การขับเคลื่อนจึงทำให้ยังไม่สามารถเติบโตได้อย่างเท่าที่ควร
3. การจัดการเรื่องศูนย์วิเคราะห์ หรือห้องปฏิบัติการ (Lab) ตรวจสารสำคัญ ที่ยังคงเข้าถึงได้ยากไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา สถานที่ตรวจ มาตรฐาน ซึ่งถือเป็นข้อมูลความเห็นจากทางหน่วยงานผู้ให้อนุญาตว่าในวันนี้ อย. มีการให้ใบอนุญาตส่วนของต้นน้ำ ทั้งหมด 1,700 ฉบับ พื้นที่ 3,900 ไร่โดยประมาณ ซึ่งส่วนมากขออนุญาตปลูกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงการแพทย์ และ 80% เป็นเมล็ดนำเข้าซึ่งอนุมานได้ว่าเป็นการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ช่อดอก และ 20% ใช้เมล็ดปลูกของ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ปลูกเพื่อเส้นใย”
ด้านผู้ประกอบการภาคเอกชน ทั้งส่วนของต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้ความเห็นโดยรวมว่าการกำหนดราคากลางเพื่อซื้อ-ขายวัตถุดิบนั้น จะต้องมีการตั้งมาตรฐานที่ดีเพื่อใช้ร่วมกันในประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีขีดความสามารถในการทำการเกษตรสูง ควรมองบริบทในประเทศไทยเป็นหลัก เพราะหากนำราคาในต่างประเทศ มาเป็นข้อเปรียบเทียบอาจส่งผลก่อให้เกิดความล้มเหลวในโครงสร้างของพืชกัญชงไทยได้ ทั้งในมิติของการลงทุนในหลักความเป็นจริง เนื่องจากอุตสาหกรรมกัญชงไทยมีอายุเพียง 1 ขวบเท่านั้น จึงจำเป็นต้องสร้างรูปแบบและดำเนินการในแนวทางที่เหมาะสมตามบริบทของประเทศ ทั้งความชัดเจนในภาคอุตสาหกรรมต่อเกษตรกรเนื่องจากพืชกัญชงยังคงเป็นพืชที่ปลูกเพื่อวัตถุประสงค์ตามใบอนุญาตผู้ประกอบการกลางน้ำ ปลายน้ำเองจำเป็นต้องสร้างความชัดเจน เช่น การทำเอกสารสัญญาการซื้อขาย ใบสั่งซื้อ ระยะเวลาการรับซื้อให้ชัดเจน รวมถึงร่วมกำหนดมาตรฐานของวัตถุดิบ ให้สอดคล้องกับกับราคาซื้อขาย รวมถึงเกษตรกรเองก็จำเป็นต้องยึดหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานของผู้ซื้อและดำเนินงานตามมาตรฐานที่ได้ร่วมกำหนดไว้แม้กระทั่งสายพันธุ์ เนื่องจากเรื่องคุณภาพของวัตถุดิบถือเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดราคา
โดยทางฝ่ายนักวิชาการเองก็ให้ข้อเสนอชัดเจนว่า การนำมาตรฐานของสารสำคัญอย่างเนื้อสารสำคัญ CBD (Cannabidiol) มาลบด้วยค่ากำจัดสิ่งแปลกปลอม หรือสารปนเปื้อน เช่น Pesticide โลหะหนัก ยาฆ่าแมลง สารพิษจากเชื้อรา เป็นต้น มาคูณด้วยค่าปริมาณความชื้น หรือแม้แต่ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเองจำเป็นต้องมองให้ครบทั้ง Supply chain ตั้งแต่มาตรฐานการปลูก ในรูปแบบ Indoor ควรมีข้อกำหนดทางราคาอย่างไร Green House มีมาตรฐานรับซื้อแบบไหน และ Outdoor จะเป็นราคาอย่างไร และจะนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์อะไร แล้วมองย้อนกลับถึงต้นทุนการผลิต และสุดท้ายว่าเมื่อปลายทางแล้ว ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้มากน้อยเพียงใด แม้กระทั่งส่วนของเส้นใย ไฟเบอร์ ที่จำเป็นต้องกำหนดถึงราคาวัตถุดิบแยกประเภทในแต่ละส่วน คือ (1) ราคาต้นสด (2) เปลือกแห้งลอกด้วยมือ (3) เปลือกแห้งลอกด้วยเครื่องจักร (4) แกนแห้งบดหยาบ (5) ใยกัญชง ซึ่งเหล่านี้เองก็จะต้องหารือระหว่างเกษตรกร และผู้รับซื้อเช่นกันว่าเมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว การแปรรูปลักษณะต่างๆ จะแบ่งแนวทางราคาเช่นไร
ทั้งนี้การประชุมครั้งนี้เป็นเพียงการเปิดการประชุมอภิปรายต่อสาธารณชนครั้งแรก เนื่องจากยังคงมีหลายปัจจัยที่จะต้องนำมาประกอบการจัดทำราคาแนะนำการซื้อ-ขายวัตถุดิบกัญชงในครั้งต่อไป ซึ่งทางสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) ในครั้งต่อไปในช่วงภายในกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งขณะนี้ได้เปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูล ข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น และคำถามเข้ามาผ่านช่องทางการติดต่อสื่อสารของสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย www.tihta.org อีเมล [email protected] โทร. 080-005-0161 หรือ LINE Official: @TIHTA.Official
A2010