- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 29 January 2022 17:55
- Hits: 11807
'สุริยะ-สาธิต' ขึ้น ฮ. สำรวจพื้นที่กรณี'น้ำมันรั่วมาบตาพุด' ย้ำภายในวันนี้เคลียร์คราบน้ำมันได้หมด เผยตัวเลขปริมาณน้ำมันล่าสุดเหลือเพียง 5 พันลิตร สั่งตั้งคณะ กก.ตรวจสอบข้อเท็จจริงด่วน
จ.ระยอง วันที่ 27 มกราคม 2565 :'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' พร้อมด้วย 'สาธิต ปิตุเตชะ' นำทีมผู้เกี่ยวข้องเหตุน้ำมันรั่วไหล บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสอบข้อเท็จจริง ยืนยันภายในวันนี้ (27 ม.ค.65) จะสามารถเคลียร์คราบน้ำมันได้ทั้งหมด ขณะที่ตัวเลขของปริมาณน้ำมันที่เหลืออยู่ที่ 5,000 ลิตร มั่นใจสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่กระทบการท่องเที่ยวของจังหวัดระยองและกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมสรุปรายงานผลทันที
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีเหตุน้ำมันรั่วไหลของ บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้แสดงความเป็นห่วงอย่างมากโดยเฉพาะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงได้สั่งการให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริงดังกล่าว เนื่องจากการรายงานข่าวในเบื้องต้นมีการรายงานตัวเลขของปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกมาว่ามีจำนวน 4 แสนลิตร ซึ่งเป็นการประเมินเบื้องต้นในช่วงของการเกิดเหตุการณ์กลางดึกของวันที่ 25 มกราคม 2565
ซึ่งต่อมาทางบริษัทฯ ได้มีการส่งนักประดาน้ำลงสำรวจจุดเกิดเหตุ พบว่า มีปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลอยู่ที่ประมาณ 50,000 ลิตร ซึ่งจากการดำเนินการควบคุมพื้นที่และกำจัดคราบน้ำมันในช่วงคืนที่ผ่านมา (26 มกราคม 2565) สามารถกำจัดออกไปได้ 45,000 ลิตร จึงเหลือตกค้างอยู่ประมาณ 5,000 ลิตร คาดว่าภายในวันนี้จะสามารถดำเนินการจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้
“จำนวนของคราบน้ำมันที่เหลืออยู่ประมาณ 5,000 ลิตร ผมเชื่อมั่นว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะที่บริเวณหาดแม่รำพึงที่มีการเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวนั้น ยืนยันไม่ส่งผลกระทบอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันเราจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งประกอบไปด้วย กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเบื้องต้น ได้มีการหารือกับรัฐมนตรีทั้ง 3 กระทรวงเรียร้อยแล้ว เพื่อสอบสวนหาสาเหตุของการรั่วไหลในครั้งนี้ รวมทั้งหามาตรการหรือแนวทางในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นซ้ำอีก” นายสุริยะ กล่าว
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2556 ที่เคยเกิดการรั่วไหลของน้ำมัน และส่งผลกระทบในวงกว้างนั้น จากการตรวจสอบทั้งในส่วนของปริมาณน้ำมัน กระแสคลื่นลมและทิศทางลมในวันนี้ มีความมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการติดตามความเสียหายในทุกมิติ ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการประสานไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความเสียหายในทุกมิติต่อไป
ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวเสริมว่า ล่าสุดจากการสำรวจทางอากาศได้พบว่า คราบน้ำมันได้ลอยเข้าใกล้ชายฝั่งมากขึ้น แต่ยังห่างจากฝั่งประมาณ 10 กิโลเมตร โดยการดำเนินการหลังจากนี้ บริษัทฯจะทำการประเมินการเคลื่อนตัวและลักษณะของคราบน้ำมัน จัดเตรียมแผนในการเก็บกู้คราบน้ำมันในทะเลโดยใช้เครื่องมือขจัดคราบน้ำมัน (Skimmer : อุปกรณ์สกิมเมอร์ (Skimmer) เพื่อทำการเก็บคราบน้ำมันขึ้นไปเก็บในภาชนะที่เตรียมไว้บนเรือ) รวมถึงการทดลองใช้แบคทีเรียในการเพิ่มประสิทธิภาพในการขจัดคราบน้ำมันตามคำแนะนำของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และจัดเตรียมอุปกรณ์และกำลังพล เพื่อเก็บกู้คราบน้ำมันบริเวณชายฝั่ง(ถ้ามี)เพื่อป้องกันผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ชายฝั่ง
“กนอ.ได้กำชับไปทางบริษัทฯให้เพิ่มการดูแลความปลอดภัย จัดหาอุปกรณ์ต่างๆเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น โดยขอให้เสร็จสิ้นภายในวันนี้ (27 ม.ค.65) ขณะเดียวกันได้รับรายงานว่าคราบน้ำมันได้ใกล้ชายฝั่งเข้ามามากขึ้น จึงได้มีการจัดทีมสำรวจพื้นที่บริเวณแนวริมชายหาดที่คาดว่าอาจจะเกิดผลกระทบ เริ่มตั้งแต่ปากอ่าวตากวนจนถึงปากน้ำ แต่ยืนยันว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ร้ายแรงเท่ากับสถานการณ์ ปี 2556 และในส่วนของคราบน้ำมันเองก็มีความรุนแรงน้อยกว่า”นายวีริศ กล่าว
ด้านนายพงษ์กรณ์ ช่อชูวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารระบบ และความปลอดภัย คุณภาพสิ่งแวดล้อม และอาชีวอนามัย บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม กล่าวว่า ล่าสุดบริษัทฯ ได้ทำการฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน โดยทางเรือและเฮลิคอปเตอร์ ที่ได้รับความร่วมมือจากจากกองทัพเรือภาคที่ 1 โดยพบว่า สามารถลดปริมาณคราบน้ำมันและพยายามควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว ทั้งนี้ บริษัทฯ ยินดีรับผิดชอบและเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งจัดให้มีสายด่วนรับเรื่องร้องเรียน ที่หมายเลข 038 699 090 ซึ่งหากพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีดังกล่าว สามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชม.
สุริยะ สั่งการ ผู้ว่า กนอ. เร่งตรวจสอบเหตุน้ำมันรั่วไหล บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม ท่าเรือมาบตาพุด ด้าน 'วีริศ' เผยควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว สั่งเตรียมรับมือกรณีฉุกเฉินหรือลมเปลี่ยนทิศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการ (26 มกราคม 2565) ผู้ว่า กนอ. เร่งตรวจสอบเหตุน้ำมันรั่วไหล บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม ท่าเรือมาบตาพุด ด้าน “วีริศ อัมระปาล” เผย กนอ. ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว สั่งเตรียมรับมือกรณีฉุกเฉินหรือลมเปลี่ยนทิศ เล็งดึงผู้เชี่ยวชาญร่วมคิดและวางแผนดูแลและซ่อมบำรุงรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีกในอนาคต
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังได้รับรายงานน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ในท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 25 ม.ค.2565 และเจ้าหน้าที่สามารถปิดวาล์วน้ำมันได้ในช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนนั้น ได้มอบหมายให้ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่เร่งเข้าตรวจสอบโดยเร็วที่สุด เพื่อติดตามสถานการณ์และหาสาเหตุพร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขต่อไป
“ผมได้สั่งการให้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกรณีเกิดกระแสลมหรือคลื่นเปลี่ยนทิศไว้ล่วงหน้าด้วย ที่สำคัญ ต้องรีบจัดการกับคราบน้ำมันดังกล่าวให้เร็วที่สุด พร้อมหาสาเหตุของการรั่วไหล” นายสุริยะ กล่าว
ด้าน นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ภายหลังได้รับข้อสั่งการตนจึงเร่งลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ทันที โดยได้รับรายงานประมาณการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลไม่เกิน 1.6 แสนลิตร หรือคิดเป็น 128 ตัน คิดเป็น 0.04% ของน้ำมันในเรือ ขณะที่เรือมีความจุประมาณ 3.2 แสนตัน อย่างไรก็ตาม ภายหลังปิดวาล์วที่เกิดเหตุได้สำเร็จ เจ้าหน้าที่ได้ทำการล้อมพื้นที่ที่น้ำมันดิบรั่วไหลในรัศมีไม่เกิน 1 ตารางกิโลเมตร พร้อมทั้งได้มีการฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน (Oil Spill Dispersant) โดยจุดเกิดเหตุนั้นห่างจากชายฝั่งประมาณ 20 กิโลเมตร เบื้องต้นประเมินสถานการณ์ว่าจะส่งผลกระทบไม่มากนัก
“ตามที่ รมว. อุตสาหกรรม ได้สั่งการ กนอ. ได้หาสาเหตุของการรั่วไหลโดยเบื้องต้น พบว่าท่อดังกล่าวมีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ตามแผนการดำเนินงานของทางบริษัทฯ มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้อาจจะมีการขอดูแผนในการดูแลและบำรุงรักษา รวมถึงอายุการใช้งานของท่อว่ามีอายุการใช้งานเท่าไหร่ จำเป็นต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงแผนให้มีความเหมาะสมหรือไม่ เพื่อจะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มาวางแนวทางให้เข้มงวดมากขึ้น หรือให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมคิดและวางแผนในการดูแลและบำรุงรักษาด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งตนจะรายงานให้นายสุริยะทราบเป็นระยะๆ ” นายวีริศ กล่าว
ทั้งนี้ ภายหลังเกิดเหตุทางบริษัทได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบในพื้นที่ทันที โดยหน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อมจะทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป
สุริยะ สั่งการ ผู้ว่า กนอ. เร่งตรวจสอบเหตุน้ำมันรั่วท่าเรือมาบตาพุด
สุริยะ สั่งเร่งตรวจสอบสาเหตุและแนวทางแก้ไข กรณี บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม เกิดน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล ปริมาณไม่น้อยกว่า 1.6 แสนลิตร หรือ 128 ตัน คิดเป็น 0.04% ของน้ำมันในเรือ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังได้รับรายงานน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ใน ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ช่วงกลางดึกของวันที่ 25 ม.ค.2565 โดยเจ้าหน้าที่สามารถปิดวาล์วน้ำมันได้ในช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืน
ทั้งนี้ ได้มอบหมายห้ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่เร่งเข้าตรวจสอบโดยเร็วที่สุด เพื่อติดตามสถานการณ์และหาสาเหตุพร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขต่อไป
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ภายหลังได้รับข้อสั่งการได้เร่งลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ทันที โดยได้รับรายงานประมาณการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลไม่เกิน 1.6 แสนลิตร หรือคิดเป็น 128 ตัน คิดเป็น 0.04% ของน้ำมันในเรือ ขณะที่เรือมีความจุประมาณ 3.2 แสนตัน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังปิดวาล์วที่เกิดเหตุได้สำเร็จ เจ้าหน้าที่ได้ทำการล้อมพื้นที่ที่น้ำมันดิบรั่วไหลในรัศมีไม่เกิน 1 ตารางกิโลเมตร พร้อมทั้งได้มีการฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน (Oil Spill Dispersant) โดยจุดเกิดเหตุนั้นห่างจากชายฝั่งประมาณ 20 กิโลเมตร เบื้องต้นประเมินสถานการณ์ว่าจะส่งผลกระทบไม่มากนัก
เบื้องต้น กนอ. หาสาเหตุของการรั่วไหล พบว่า ท่อดังกล่าวมีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ตามแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ต่อไปจะขอดูแผนในการดูแลและบำรุงรักษา รวมถึงอายุการใช้งานของท่อว่ามีอายุการใช้งานเท่าไหร่ จำเป็นต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงแผนให้มีความเหมาะสมหรือไม่
เพื่อจะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มาวางแนวทางให้เข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมคิดและวางแผนในการดูแลและบำรุงรักษาด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีกในอนาคต
อย่างไรก็ดี ภายหลังเกิดเหตุทางบริษัทได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบในพื้นที่ทันที โดยหน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อมจะทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป
พบน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณ ทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM)บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน)
ตามที่บริษัทฯ แจ้งเหตุน้ำมันดิบรั่วบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 20 กิโลเมตร เมื่อเวลา 21.06 น. ของวันที่ 25 มกราคม 2565
บริษัทฯ ขอรายงานความคืบหน้าว่า ในวันนี้บริษัทฯ ยังคงดำเนินการใช้เรือทำการฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน โดยทางเรือและเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเรือภาคที่ 1 และบริษัทฯ ได้นำทุ่นกักน้ำมัน (boom) เพื่อกักคราบน้ำมันไว้ไม่ให้กระจายเข้าสู่ชายฝั่ง นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้รับความร่วมมือจาก บริษัท Oil Spill Response Limited (OSRL) ประเทศมาเลเซียในการส่งเครื่องบิน C-130 พร้อมผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ฉีดน้ำยาสลายคราบน้ำมัน ซึ่งได้เดินทางมาถึงในวันนี้ (27 มกราคม)
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จัดบุคลากรเพื่อติดตามและสำรวจตามชายฝั่งบริเวณชายหาดหนองแฟบจนถึงเขาแหลมหญ้า ในขณะเดียวกันได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำทะเล ตะกอนดิน และอากาศ เพื่อนำไปตรวจสอบวิเคราะห์ ให้มั่นใจว่าการขจัดคราบน้ำมันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและการประกอบอาชีพประมงชายฝั่งน้อยที่สุด
สำหรับ การดำเนินงานของโรงกลั่นน้ำมัน บริษัทฯ ยังสามารถเดินเครื่องด้วยความปลอดภัย หากมีความคืบหน้า บริษัทฯ จะรายงานสถานการณ์ให้ทราบเป็นระยะจนกว่าสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
อุบัติภัยทะเลดำ
ภัยนำ้มันรั่วระหว่างการขนถ่ายในทะเล สำหรับประเทศไทยตามรายงานเกิดมาแล้วเกือบ 300 ครั้ง เป็นขนาดใหญ่เสีย 9 ครั้ง โดยครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดที่เขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อปี 2556 น้ำมันกว่า 50,000 ลิตรรั่วจากท่อส่งน้ำมันทางทะเลของบริษัท PPT Global Chemical ของ ปตท. จนเมื่อวานนี้ในบริเวณใกล้เคียงที่เดิม ท่อน้ำมันดิบซึ่งอยู่ใต้ทะเลห่างจากฝั่งระยองออกไป 20 กม.ของบริษัท Star Petroleum Refining รั่วแตก ยังผลให้น้ำมันดิบกว่า 400,000 ลิตรรั่วไหลออกเต็มทะเลหน้าเกาะเสม็ด คิดเป็นเนื้อที่ราว 50 ตร.กม.(ใหญ่กว่าเกาะเสม็ด 3 เท่า)
เมื่อปี 2556 ผมได้ขอร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและผู้ว่าการ ปตท. ลงไปตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง และผมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีก็ได้ตามไปตรวจสอบอย่างใกล้ชิด สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็ต้องขอชื่นชมต่อกรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยกรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า โดยเฉพาะกองทัพเรือซึ่งมารับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ที่ทำงานอย่างเข้มแข็งและทันเวลา แต่จะควบคุมการแพร่กระจายของน้ำมันได้มากแค่ไหนก็คงต้องเอาใจช่วยต่อไป แต่ก็ต้องขอเตือนพวกที่กำลังจะพยายามแปลงข้อมูลจำนวนน้ำมันที่รั่วออกมาให้น้อยลงนะ ว่าอย่าทำเป็นอันขาด ขอให้พูดความจริง ไม่งั้นมีเรื่องแน่นอน (จะเอาแบบหมูขาดตลาดอีกหรือไง)
ตามข่าวเห็นว่า ท่านนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งควบคุมสถานการณ์ ซึ่งผมก็เห็นว่าดีและถูกต้องแล้ว แต่คิดว่า ยังไม่พอ ท่านต้องสั่งให้ระดับรัฐมนตรีลงเรือไปดูสถานการณ์เอง และดูเหมือนว่า ผู้ที่เป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นท่านประวิตร ทำไงได้ ก็คงต้องลำบากท่านแล้ว (อย่าลืมใส่เสื้อชูชีพล่ะ) และขอให้นำเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นเครื่องเตือนสติก่อนที่จะตัดสินใจสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมที่อ.จะนะ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ถือว่าเล็กมากหากเทียบกับที่เกิดที่ Alaska สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2532 น้ำมันมากถึง 1.7 พันล้านลิตรจากเรือ Exxon Valdaze รั่วจากการชนกับแนวปะการัง ทำความเสียหายต่อชายฝั่งยาวมากถึง 2,100 กม. โดยครอบคลุมพื้นที่กว่า 10,000 ตร.กม. และอีกครั้งที่อ่าว Mexico เมื่อปี 2553 เมื่อแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัท British Petroleum ( BP) เกิดอุบัติเหตุ น้ำมันมากถึง 779 ล้านลิตรไหลไปปนเปื้อนชายฝั่งยาวถึง 1,728 กม. ทั้งสองกรณี สหรัฐใช้เวลามากว่า 10 ปีในการทำความสะอาด (Clean up) ทั้งๆที่เขามีเงิน มี technology และเครื่องมือทุกอย่างพร้อม
แต่อนิจจา สำหรับบ้านเรา เมื่อเกิดในปี 2556 เราก็ต้องให้ทางสิงคโปร์ช่วยส่งเรือ น้ำยาเคมีและทุ่นยางเพื่อล้อมวงน้ำมัน มาช่วย มาวันนี้ ผ่านมาอีก 8 ปี ผมนึกว่า พี่ไทยจะพร้อมรบ ที่ไหนได้ ต้องขอให้สิงคโปร์ช่วยเหมือนเดิมอีกแล้ว รัฐบาลกรุณาอธิบายหน่อยว่า ทำไมไม่ลงทุนเรื่องแบบนี้ เพราะมันอาจเกิดขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้ รัฐลงทุนไปก่อนเลย และหากเกิดอุบัติภัยแบบนี้ขึ้นมาเมื่อใด ก็ไปเรียกเก็บ ‘ค่าใช้เรือและอุปกรณ์’ จากผู้ก่อเหตุทั้งหลาย ซึ่งพวกเขาล้วนมีประกันภัยกันทั้งสิ้น (ทราบหรือเปล่า) ผมรับรองหากกองทัพเรือขอมีเรือแบบนี้ จะไม่มีใครมาขัดขวางแน่นอน เพราะถ้าค้านมา ผมจะอาสาไปเตะก้นให้
ในฐานะที่เรียนทางด้านสิ่งแวดล้อมและปฎิบัติงานในด้านนี้มาตลอด อยากจะย้ำอีกครั้งว่า การฟื้นฟูและปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม และสภาพนิเวศน์ทางธรรมชาติ แม้จะแพงและใช้เวลา แต่ก็จะไม่สูญเปล่า เพราะไม่เพียงเพื่อรักษาสุขภาพจิตและพลานามัยของชาวไทยเท่านั้น แต่ก็จะสามารถขายชาวต่างประเทศได้อีกด้วย รักษาของเราให้งามไว้เถิด เขาดูเท่าไหร่ก็ไม่มีวันจืดหรอก
พบน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณ ทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน)
ตามที่บริษัทฯ แจ้งเหตุน้ำมันดิบรั่วบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 20 กิโลเมตร เมื่อเวลา 21.06 น. ของวันที่ 25 มกราคม 2565
บริษัทฯ ขอรายงานความคืบหน้าว่า ในวันนี้บริษัทฯ ได้ดำเนินการภายใต้การบัญชาการของ ศูนย์อำนวยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน กองทัพเรือ (ศอปน.ทร.)
เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. ของวันที่ 29 มกราคม 2565 คราบน้ำมันได้เคลื่อนตัวเข้าหาชายฝั่งและบางส่วนพัดเข้าบริเวณชายหาดแม่รำพึง ลานหินขาวจังหวัดระยอง แผนการตอบโต้สถานการณ์ได้ครอบคลุมการปฎิบัติงาน 2 ส่วน ดังนี้
การปฏิบัติงานทางทะเล
- ยังคงมีการใช้เรือในการวางทุ่นกักน้ำมัน (boom) ในทะเลเพื่อป้องกันการเคลื่อนตัวของน้ำมันเข้าพื้นที่ชายฝั่ง
- เครื่องบิน C-130 ของ บริษัท Oil Spill Response Limited (OSR) บินสำรวจพื้นที่
- มีการใช้เรือของกองทัพเรือเฝ้าตรวจกลุ่มน้ำมันบริเวณเขาแหลมหญ้า เกาะเสม็ด
การปฏิบัติการทางชายฝั่ง
- ตั้งศูนย์Shoreline Cleaning Command Center ที่บริเวณประมาณ 1 กิโลเมตรห่างจากลานหินขาว
- มีกำลังพลสนับสนุนจากกองทัพเรือ และบุคลากรรวมทั้งผู้รับเหมาของบริษัทฯ ทำการเก็บคราบน้ำมัน และทำความสะอาดคราบน้ำมันบริเวณชายหาด
บริษัทฯ จะดำเนินการปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัยเพื่อขจัดคราบน้ำมันให้ได้มากที่สุด และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลรวมถึงชายฝั่ง
สำหรับการดำเนินงานของโรงกลั่นน้ำมัน บริษัทฯ ยังสามารถเดินเครื่องด้วยความปลอดภัย หากมีความคืบหน้าบริษัทฯ จะรายงานสถานการณ์ให้ทราบเป็นระยะจนกว่าสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ