- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 13 December 2021 08:19
- Hits: 8934
รมว.สุริยะ เปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไออน กำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในการเปิดโรงงานการผลิตแห่งใหม่ของ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ‘Grand opening celebration of the first Gigafactory in ASEAN : Energy Transformation to the Future : พลังงานเพื่ออนาคต’
โดยมีนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มพลังงานบริสุทธ์ และนายชาญยุทธ ฉายาวัฒนะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมิตา เทคดนดลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมให้การต้อนรับ และมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายใบน้อย สุวรรณชาตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวัชร์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาการในตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นเกียรติ ณ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรม ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
สำหรับ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด นั้นเป็นบริษัทในกลุ่มย่อยของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจรที่ทันสมัยและมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท อมิตา เทคโนโลยี อิงค์ (ไต้หวัน) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในไต้หวันมากว่า 20 ปีที่ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และเทคโนโลยีในการสร้างโรงงาน ซึ่งเป็นโรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี
โดยระยะแรกมีความพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตได้สูงสุดถึง 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในทันทีและในอนาคตเตรียมแผนขยายกำลังการผลิตสู่ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี โดยโรงงานฯ มีพื้นที่การผลิตภายในโรงงานรวมกว่า 80,000 ตารางเมตร เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ชนิด Pouch Cell (แบตเตอรี่แบบถุง) ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และวัสดุที่มีความปลอดภัยสูงในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ให้สามารถจุพลังงานได้สูง มีน้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นอันตราย เช่น กรดหรือตะกั่ว และใช้เทคนิคพิเศษในการผลิตเซลล์ เพื่อให้สามารถคัดแยกแผ่นขั้วบวกและขั้วลบได้ง่ายในขั้นตอนของการรีไซเคิลเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงทำให้เป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม