- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 03 December 2021 16:38
- Hits: 9705
TBCSD ร่วมมือครั้งสำคัญกับองค์กรพันธมิตร 5 หน่วยงานหลักของประเทศ
แสดงจุดยืนความเป็นผู้นำในความมุ่งมั่นขับเคลื่อนภาคธุรกิจไทยไปสู่ความยั่งยืน
องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development: TBCSD) ได้จัดงานสัมมนาประจำปี 2564 (TBCSD Annual Event 2021) : Vision 2050 โดยเป็นการจัดงานสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ Zoom เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด COVID-19 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อรับฟังปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับบทบาทภาคเอกชนกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และรับฟังบรรยายพิเศษจาก WBCSD ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคธุรกิจระดับโลกเกี่ยวกับ Vision 2050: Time to Transform Business พร้อมทั้ง รับทราบแผนการดำเนินงานของ TBCSD ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยในงานครั้งนี้ได้รับเกียรติอย่างสูงจากนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาเป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารจากองค์กรสมาชิก TBCSD จำนวน 40 องค์กร ซึ่งครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง กลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และกลุ่มอื่นๆ
นอกจากองค์กรสมาชิก TBCSD ภายในงานยังได้รับเกียรติอย่างสูงจากองค์กรพันธมิตร 5 หน่วยงานหลักของประเทศ ได้แก่ 1) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 3) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 4) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ 5) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มาร่วมกล่าวถึงบทบาทขององค์กรพันธมิตรในการร่วมสนับสนุนการสร้างความยั่งยืนของภาคธุรกิจไทยร่วมกับ TBCSD
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า “กว่า 3 ทศวรรษ TBCSD จากก้าวแรกถึงปัจจุบัน ผ่านระยะเวลากว่า 28 ปี TBCSD เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคธุรกิจชั้นแนวหน้าของประเทศไทยที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำนวนสมาชิกกว่า 40 องค์กร และด้วยความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งขององค์กรสมาชิก และการทำงานร่วมกันกับองค์กรพันธมิตร TBCSD จึงสามารถดำเนินงานในการยกระดับภาคธุรกิจไทยให้มีการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนและสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยได้ดำเนินการไปพร้อมๆ กับการขยายกรอบการทำงานเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาระดับชาติด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ”
ปาฐกถาพิเศษ โดย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เกียรติมาร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “บทบาทภาคเอกชนกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13” กล่าวว่า “ความท้าทายในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ได้ตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับแนวทางการพัฒนาประเทศให้สมดุลและยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งเน้นประเด็นที่มีลำดับความสำคัญสูง เพื่อเร่งเพิ่มศักยภาพและพัฒนาประเทศให้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยกำหนดหมุดหมายการพัฒนา 13 ประการ ที่สะท้อนประเด็นการพัฒนาที่สำคัญต่อการพลิกโฉมประเทศสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ซึ่งภาคเอกชนเป็นหุ้นส่วนสำคัญที่จะช่วยเร่งรัดให้เกิดความก้าวหน้า ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ เนื่องจากมีศักยภาพในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะสร้างผลกระทบสูงต่อการปรับรูปแบบการผลิตและการบริโภคให้เกิดความยั่งยืน มีการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ และบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในการจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ในการดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ เมื่อทุกส่วนก้าวไปพร้อมกัน โดยมีเป้าหมายแน่ชัด ครอบคลุม และประสานพลังกัน ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าได้ไวและไกลกว่าเดิม”
แถลงสรุปผลงาน TBCSD ในรอบปี 2564 และทิศทางการดำเนินงาน TBCSD ปี 2565 ในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน โดย คณะกรรมการบริหารองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) นำโดย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนพร้อมด้วย ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ร่วมกันแถลงว่า “ในปีที่ผ่านมา TBCSD ได้ร่วมส่งเสริมภาคธุรกิจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมๆ กับการขยายกรอบการทำงานเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา Country Issue ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ โดยประเด็นสำคัญ ได้แก่ PM2.5 Climate Change ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น โดยร่วมกันวางแผนการดำเนินงานสำหรับภาคเอกชนไทยเพื่อเป็นต้นแบบที่ดีและทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อนำเสนอแผนการรับมือกับปัญหาต่างๆ และแนวทางปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้ง มีการรวบรวมข้อมูลและรายงานผลอย่างเป็นระบบ และยังได้ร่วมดำเนินงานกับองค์กรพันธมิตรทั้งในระดับสากล และระดับประเทศ ซึ่งในระดับสากล TBCSD เป็น Regional Network ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ World Business Council for Sustainable Development หรือ WBCSD และในระดับประเทศ TBCSD ได้ร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร 5 หน่วยงานหลักของประเทศ ได้แก่ 1) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 3) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 4) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ 5) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจและประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้ง ช่วยขับเคลื่อนวาระแห่งชาติต่างๆ ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศไทย องค์กรสมาชิก TBCSD ได้แสดงบทบาทสำคัญต่อการร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาวิกฤต COVID-19 ผ่านการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งสำคัญครั้งนี้ไปให้ได้อย่างเร็วที่สุด”
นอกจากนี้ TBCSD ยังได้รับเกียรติอย่างสูงจากผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรพันธมิตร 5 หน่วยงานหลักของประเทศ มาร่วมกล่าวถึง “บทบาทขององค์กรพันธมิตรในการร่วมสนับสนุนการสร้างความยั่งยืนของภาคธุรกิจไทย ร่วมกับ TBCSD”
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอแสดงความยินดีกับ TBCSD ถึงผลสำเร็จของการดำเนินงานและความร่วมมือร่วมใจเพื่อพัฒนาธุรกิจของประเทศสู่ความยั่งยืน ส.อ.ท. ได้ร่วมเป็นหนึ่งในองค์กรพันธมิตรของ TBCSD มาตั้งแต่ปี 2562 ในการส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาประเด็นหลักประเทศ ทั้งการแก้ไขปัญหา PM2.5 ที่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมปรับปรุงและ เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและระบบโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและของเสียอุตสาหกรรม โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการดำเนินงานและพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและผลิตภัณฑ์พลอยได้ หรือ Circular Material Hub เพื่อนำของเสียเข้าสู่ระบบการจัดการที่เป็นรูปธรรม สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ รวมทั้งส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมมุ่งสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) สอดคล้องกับแนวคิด BCG ของประเทศ สำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส.อ.ท. ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหาแนวทางลดฯ และได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต (Thailand Carbon Credit Exchange Platform) ที่สามารถสนับสนุนเป้าหมายของประเทศในการมุ่งสู่ Carbon Neutral และ Net Zero ส.อ.ท. มุ่งมั่นให้ความร่วมมือและสนับสนุน TBCSD อย่างเต็มที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนภาคธุรกิจไทยให้มีการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคธุรกิจไทย”
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “หอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มุ่งเน้นภารกิจที่ดำเนินการ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสนองตอบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals - SDGs ทั้งในด้าน Good Health and well-being การมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี ของทุกคน ด้วยการส่งมอบห้องคัดกรอง ห้องตรวจเชื้อความดันบวก-ความดันลบ ให้กับโรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และ Reduced Inequalities ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน Climate Action ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยร่วมมือกับสมาชิก จัดโครงการความร่วมมือการรับซื้อฟางข้าว ใบอ้อย และซังข้าวโพด เพื่อลดปัญหา PM2.5 และภาวะโลกร้อน เป็นต้น ทั้งนี้ หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจขนาดใหญ่ระดับประเทศ รวมทั้งมีองค์กรที่เป็นศูนย์รวมของธุรกิจที่หลากหลาย จะสามารถสร้างพลังการขับเคลื่อนธุรกิจ และประเทศไทย ให้เจริญก้าวหน้าสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืนต่อไป”
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า “ก.ล.ต. ร่วมผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทยในมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจในตลาดทุนดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการร่วมแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) โดยสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ภาคธุรกิจผ่านการทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเครื่องมือต่างๆ เพื่อนำพาธุรกิจสู่ความยั่งยืน ซึ่งความร่วมมือกับ TBCSD และทุกภาคส่วนจะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน”
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพของ บจ. ไทยให้มีระบบและกลไกในการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) อย่างเข้มแข็งเพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัว เติบโต และแข่งขันได้ในระดับสากล สอดคล้องกับพันธกิจของ TBCSD ที่มุ่งส่งเสริมให้ธุรกิจไทยมีความยั่งยืนและประสบความสำเร็จ เพื่อช่วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกที่ยั่งยืน และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการสร้างความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมในภาคธุรกิจ
ปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาซ้อนปัญหา ทั้งวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก (Climate emergency) เป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามอง ภาคธุรกิจไทยจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญและลงมือแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังโดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้ธุรกิจไทยในเวทีโลก
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงสนับสนุนให้บจ.ผนวก ESG ในกลยุทธ์หลักของการทำธุรกิจ โดยพัฒนา ESG Ecosystem ทั้งระบบ คือ ยกระดับคุณภาพ บจ. ด้วยการจัดการอบรม ให้คำปรึกษารายบริษัท และทำตัวชี้วัดและเครื่องมือประเมินองค์กร รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพด้าน ESG และเครือข่าย SET ESG Expert Pool เพื่อยกระดับทรัพยากรบุคคลในด้านนี้ให้ได้มาตรฐานและเพียงพอกับความต้องการ อีกทั้งพัฒนา ESG data platform เพื่อรวมศูนย์ข้อมูล สร้างความโปร่งใสและสร้างมาตรฐาน ESG ในการดำเนินกิจการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนไทย”
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ขณะนี้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกรวน ที่เกิดจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง และเร่งด่วน โดยประเทศไทยก็ได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องนี้ และได้ประกาศความมุ่งมั่นที่จะมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ หรือ Net Zero GHG ในปี ค.ศ. 2065 สำหรับ TGO ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ก็ได้มีการดำเนินงานสนับสนุนต่อเป้าหมาย และนโยบายดังกล่าว รวมถึงการจัดตั้งเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network หรือ TCNN) โดยร่วมกับ Climate Neutral Now ภายใต้ UNFCCC เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในทุกภาคส่วนในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในระดับองค์กร ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่ TGO ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ TBCSD เพื่อที่จะช่วยกันสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรภาคธุรกิจในประเทศไทย รวมถึงการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการเป็น Net Zero ตามเป้าหมายได้ในที่สุด”
พิธีแสดงความมุ่งมั่น ผู้บริหารจากองค์กรสมาชิก TBCSD 40 องค์กร ร่วมกับองค์กรพันธมิตร 5 องค์กรพร้อมใจกันเข้าร่วมแสดงความมุ่งมั่น “ภาคเอกชนไทยพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน” เพื่อเป็นการแสดงออกถึงพลังความร่วมมือภาคธุรกิจไทยในการเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน
ด้วยความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งขององค์กรสมาชิก และการทำงานร่วมกันกับองค์กรพันธมิตร และเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ TBCSD จึงเป็นผู้นำในการยกระดับให้มีการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนในวงกว้างและสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง
A12086