- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 16 November 2014 18:50
- Hits: 3031
อุตฯ หนุนผู้ประกอบการยาง
บ้านเมือง : นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโรงงานผลิตยางรถบรรทุกเรเดียล บริษัท สยามทรัค เรเดียล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแห่งที่ 5 ภายใต้กลุ่มบริษัท ดีสโตน ที่เป็นบริษัทของคนไทย ว่า ประเทศไทยในฐานะเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ และผลิตได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยในปี 2556 มีปริมาณผลผลิตยางพารา 4.17 ล้านตัน และยังเป็นผู้ส่งออกยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก มีปริมาณการส่งออกมากกว่า 3 ล้านตันต่อปี ผลิตใช้ในประเทศ 1.17 ล้านตัน
"ส่วนใหญ่การส่งออกยางพาราของไทยจะอยู่ในรูปแบบของวัตถุดิบ เช่น ยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้น โดยรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่น ยางล้อ ถุงมือยาง เส้นด้ายยางยืด ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานด้านวิศวกรรม ฯลฯ โดยสัดส่วนการใช้ยางในประเทศปัจจุบันมีปริมาณปีละ 5 แสนตัน คิดเป็นเพียง 12% ของปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติเท่านั้น"
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรมยางพารา โดยการพัฒนายางพาราทั้งระบบจำนวน 2 โครงการ คือ 1.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อยางส่วนเกินออกจากระบบในช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ช่วงเดือน พ.ย.57-เม.ย.58 ซึ่งการใช้เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท ตามโครงการฯ คาดว่าจะทำให้สามารถดูดซับปริมาณยางพาราที่จะเข้าสู่ระบบได้ประมาณ 200,000 ตัน จะส่งผลให้ราคายางเพิ่มขึ้นทันที ประมาณ 2-3 บาท/กิโลกรัม และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายคือ 66 บาท/กิโลกรัม 2.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเพื่อขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิตวงเงิน 15,000 ล้านบาท โดยร่วมกับธนาคารออมสิน นับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำที่ใช้ยางพาราในประเทศ
ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันรถบรรทุกขนาดใหญ่เปลี่ยนจากการใช้ยางผ้าใบ เป็นยางเรเดียลที่มีคุณสมบัติที่ดีและคุ้มค่ากว่า โดยคู่แข่งที่สำคัญของไทยไปตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา คือ จีน ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นฐานการผลิตยางล้อที่สำคัญ แต่ส่วนใหญ่จะใช้ภายในประเทศ ขณะที่ไทยเป็นฐานการผลิตยางล้อที่สำคัญจากการที่บริษัทข้ามชาติรายใหญ่ที่พร้อมทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงได้เข้ามาลงทุนในไทย จึงนับว่าไทยยังมีโอกาสทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมยางล้อ