- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 12 November 2014 22:19
- Hits: 4704
Lucy Electric สยายปีกลุยอาเซียน ทุ่ม 400 ล้าน ดันไทยขึ้นฐานผลิตสวิทซ์เกียร์
Lucy Electric ยักษ์ใหญ่ด้านระบบส่งจ่ายไฟฟ้า ทุ่ม 400 ล้านบาทสร้างโรงงานสวิทซ์เกียร์ ปักธงเมืองไทยขึ้นแท่นฐานผลิตสินค้า Medium voltage switchgear แห่งแรกในอาเซียน ชี้แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในภูมิภาคหลังปรับระบบส่งจ่ายจาก Over Head สู่ Underground มั่นใจศักยภาพเมืองไทยทำเลทองแห่งศูนย์กลางอาเซียน โชว์เทคโนโลยีการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ เดินหน้าสู่การเติบโตต่อเนื่อง
Carl Sellick กรรมการผู้จัดการส่วนภูมิภาคเอเซีย ของ บริษัท ลูซี่ อีเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ชั้นนำของบริษัทฯ ถูกสร้างขึ้นด้วยสุดยอดนวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าแรงดันขนาดกลาง (Medium voltage switchgear) ที่สร้างขึ้นโดยการผสมผสานการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง นอกจากนั้นใน Lucy Electric ยังให้บริการออกแบบระบบตามความต้องการเฉพาะของลูกค้า ครอบคลุมการประกันและบริการหลังการขาย เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจสูงสุดตลอดระยะเวลาการใช้งาน
Lucy Electric มีลูกค้ารายใหญ่ในอุตสาหกรรมส่งจ่ายไฟฟ้าทั่วโลก ครอบคลุมกว่า 70% ของตลาด อาทิ บริษัท Tanaga Nasional Berhad (TNB) ในมาเลเซีย ด้วยจำนวนกว่า 3,500 ยูนิตต่อปี, SP Powerasset and Water Authority 300 ยูนิตต่อปี รวมทั้งลูกค้าที่ใช้บริการของ Lucy Electric อย่าง สนามบินฮีทโธรว์ ในลอนดอน, Metro Manila LRT ในฟิลิปปินส์ เป็นต้น
ทั้งนี้ รายได้ของ Lucy Electric ในปี 2556 เติบโตจาก ปี 2555 ถึง 21% และยังมีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยลูกค้าหลักของ Lucy Electric คือกลุ่มการไฟฟ้า 70% และ กลุ่มลูกค้าทั่วไป 30% ประกอบด้วยผู้พัฒนาโครงการหรือกลุ่มบริษัทต่างๆ เช่น MRT
ชี้แนวโน้มระบบพลังงานอาเซียน
เพื่อขยายศักยภาพการผลิตสวิทซ์เกียร์ (Switchgear) ให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าทั่วโลก โดยเฉพาะความต้องการด้านพลังงาน และระบบการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง ทาง Lucy Electric จึงก่อตั้งโรงงานแห่งใหม่ในประเทศไทย เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งภูมิภาค ซึ่งมีความได้เปรียบในด้านความรวดเร็วในการขนส่งสินค้า และการให้บริการลูกค้า
ทั้งนี้การใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของระบบส่งจ่ายไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีความต้องการใช้ Ring Main Units (RMU) เพื่อปรับปรุงระบบส่งจ่ายเดิมให้มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนระบบการส่งจ่ายไฟแบบ Over Head เป็นแบบ Underground ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และพม่า ซึ่งระบบดังกล่าวได้ดำเนินการมาแล้วในประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย
การใช้ระบบใหม่นี้จะช่วยทำให้ระบบส่งจ่ายไฟฟ้ามีคุณภาพ และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น หมายรวมถึง ความพึงพอใจของลูกค้าที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ทุ่ม 400 ล้านปักธงโรงงานในไทย
โรงงานของ Lucy Switchgear ในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ก่อตั้งเมื่อ 2014 นับเป็นโรงงานแห่งแรกของ Lucy Electric ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้งบประมาณการลงทุนกว่า 400 ล้านบาทสำหรับเฟสแรก มีพนักงานรวม 180 คน โดยโรงงานแห่งนี้มีศักนภาพในการผลิตสวิทซ์เกียร์ และ Ring Main Unit ปัจจุบันมีการผลิต 20,000 ยูนิตต่อปี จากกำลังการผลิตทั้งหมด 30,000 ยูนิตต่อปี โดยโรงงานแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการส่งออกเป็นหลักประมาณ 90% และป้อนตลาดในประเทศ 10% โดยโรงงานแห่งนี้นับเป็นศูนย์กลางการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาทางระบบสาธารณูปโภคที่ยังเติบโตต่อเนื่อง
“Lucy Electric มีวิสัยทัศน์ในการคิดค้นและพัฒนาเพื่อให้บริการโซลูชั่นอัจฉริยะสำหรับระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างดีที่สุด และช่วยให้การกระจายตัวของพลังงานไปยังบ้านเรือนหรือธุรกิจเป็นไปอย่างปลอดภัยภายใต้มาตรฐานระดับโลก”
สำหรับ การลงทุนในเมืองไทยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของตลาดในอาเซียน รวมทั้งศักยภาพของประเทศไทย ในความเป็นศูนย์กลางของการขนส่งและการให้บริการลูกค้า โดยปัจจุบัน Lucy Electric ประเทศไทย มีสำนักงานอยู่ที่อาคาร Exchange Tower อโศก กรุงเทพฯ และมีทีมงานมืออาชีพที่พร้อมให้บริการภายใต้คุณภาพระดับสากลทั้งก่อนและหลังการขาย พร้อมรองรับโอกาสในการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคที่จะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีหน้า
“แรงงานฝีมือคนไทยยังมีส่วนทำให้บริษัทฯมั่นใจในการลงทุนเครื่องจักรและระบบที่มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย อย่างระบบการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ ไปจนกระทั่งเทคโนโลยีการตรวจจับการรั่วไหลของแกส ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงสุด อาจกล่าวได้ว่า Lucy Electric คือโรงงานผลิตสวิตเกียร์รายแรกของประเทศไทยที่มุ่งมั่นในการลงทุนด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่นนี้” Carl Sellick กล่าว