- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 15 August 2021 16:36
- Hits: 12317
ก.อุตฯ จับมือพันธมิตรชั้นนำ จัดงานประกวดนวัตกรรมโชว์ศักยภาพ ในงาน 'Catalyst Startup 2021'เร่งศักยภาพ Startup ยกระดับนวัตกรรมไทย เฟ้น 4 สตาร์ทอัพ ร่วมขับเคลื่อน BCG Model
กระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลการจัดประกวดการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Catalyst Startup 2021 เร่งศักยภาพ Startup ยกระดับนวัตกรรมไทย ภายใต้โจทย์การขับเคลื่อน BCG Model (Bio Economy - Circular Economy - Green Economy) โดยคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการธุรกิจ Startup 12 ทีม แข่งขันรอบสุดท้าย Online Pitching Day ได้ผู้ชนะ 4 ทีม จาก 4 โจทย์การแข่งขัน โชว์แสดงศักยภาพและนำเสนอการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากงานประกวดการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Catalyst Startup 2021 เร่งศักยภาพ Startup ยกระดับนวัตกรรมไทย เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการธุรกิจ Startup สนใจสมัครเข้าร่วมจำนวนกว่า 100 ทีมทั่วประเทศ โดยมีทีมที่ผ่านการคัดเลือกตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ จำนวน 35 ทีม ผ่านเข้ารอบไปสู่กิจกรรม Online Demo Day ซึ่งเป็นการนำเสนอการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การนำเสนอไอเดียหรือแผนทางธุรกิจ ต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน โดยมี 12 ทีมที่สามารถเข้ารอบการแข่งขันไปสู่กิจกรรม Online Pitching Day
โดยเมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (สอป.) ได้จัดกิจกรรม Online Pitching Day ภายใต้งาน Catalyst Startup 2021 เร่งศักยภาพ Startup ยกระดับนวัตกรรมไทย โดยนำผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการธุรกิจ Startup ทั้ง 12 ทีม มาร่วมนำเสนอการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การนำเสนอไอเดียหรือแผนทางธุรกิจ ต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานอุตสาหกรรมทั้ง 76 จังหวัด หน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ และภาคเอกชน ประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน), บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด, บริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส จำกัด, บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด, ธนาคารออมสิน, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และบริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด ผู้สนับสนุนเงินทุนค่าใช้บริการ Online Enterprise System รายละ 10,000 บาท และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้สนับสนุนคูปองใช้บริการ HUAWEI CLOUD Credit ให้กับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการธุรกิจ Startup ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในวันจัดกิจกรรม Online Pitching Day มีผู้เข้าร่วมผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่า 200 คน ผลการแข่งขันสามารถคัดเลือก 4 ทีม ชนะเลิศในแต่ละโจทย์
การแข่งขัน ซึ่งจะได้รับคูปองใช้บริการ HUAWEI CLOUD Credit ทีมละ 10,000 USD หรือประมาณ 300,000 บาท พร้อมสิทธิ์ในการเข้าร่วม HUAWEI Partner Network และสิทธิ์ในการเข้าร่วมอบรมหลักสูตร HUAWEI CLOUD หลักสูตรละประมาณ 50,000 บาทต่อทีม โดยมีทีมชนะเลิศทั้ง 4 ทีม ได้แก่
- ทีม ZUPPORTS จากบริษัท บางซื่ออุตสาหกรรม จำกัด ชนะเลิศในโจทย์การแข่งขัน Smart Potential Industry กับ แพลตฟอร์ม ที่เข้ามาช่วยผู้นำเข้าส่งออกบริหารงานขนส่งระหว่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์
- ทีม Rewastec จากบริษัท รีเวสเทค จำกัด ชนะเลิศในโจทย์การแข่งขัน Sustainable and Circular Efficiency กับผลิตภัณฑ์เส้นเชือกพลาสติกคอมโพสิท รีไซเคิล
- ทีม Stepsole จากบริษัท สเตปโซล จำกัด ชนะเลิศในโจทย์การแข่งขัน Smart Medicine and Health กับผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ตรวจคัดกรองเซลล์มะเร็งปากมดลูกโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
- ทีม เก้าไร่ จากบริษัท เก้าไร่ บิซิเนส โซลูชั่นส์ จำกัด ชนะเลิศในโจทย์การแข่งขัน Smart Agriculture กับแพลตฟอร์มอัจฉริยะสำหรับการจองโดรน (Drone) เพื่อการเกษตรสำหรับงานฉีดพ่นผ่านระบบสมาร์ทโฟนสำหรับเกษตรกร
“สอป. เล็งเห็นว่าผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการธุรกิจ Startup ที่ผ่านเข้ารอบทั้งกิจกรรม Online Demo Day ทั้ง 35 ทีม และ Online Pitching Day ทั้ง 12 ทีม คาดว่าทีมจะที่ได้รับการร่วมลงทุนหรือได้รับสินเชื่อจากหน่วยงานหรือบริษัทชั้นนำที่ร่วมงาน มีไม่น้อยกว่า 10 ทีม สามารถประมาณการวงเงินลงทุนหรือวงเงินได้รับสินเชื่อไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งนอกจากกิจกรรมฯ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว กระทรวงฯ ยังมีกิจกรรมหรือมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือ ฟื้นฟูภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมการให้บริการ, การพักชำระหนี้เงินทุนหมุนเวียน, การช่วยเหลือด้านการตลาด, การส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับวิถีใหม่ หรือ New Normal เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และช่วยให้สามารถเสริมศักยภาพ และยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศได้ตามมนโยบายและเป้าหมายที่กำหนดไว้”ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ