- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 12 August 2021 21:14
- Hits: 3757
วว. พลิกเกมนวัตกรรม ถอดรหัสชีวภาพ
พัฒนา 15 สายพันธุ์จุลินทรีย์ไทยเปลี่ยนโลก
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร เผยความสำเร็จในการพัฒนาจุลินทรีย์โพรไบโอติก โดยนักวิจัยวว. และเตรียมขึ้นทะเบียน 15 สายพันธุ์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารในเชิงพาณิชย์ ชูจุดเด่นช่วยลดโคเลสเตอรอล เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านอนุมูลอิสระ และปรับสมดุลการทำงานของลำไส้ สามารถเก็บรักษาผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์พรีไบโอติกเพื่อบริโภคได้นานถึง 2 ปี พร้อมเปิดให้บริการประเมินและทดสอบกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพแก่ผู้ประกอบการ คาดจุลินทรีย์สัญชาติไทยสามารถลดการนำเข้าหัวเชื้อจุลินทรีย์จากต่างประเทศได้ไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาทต่อปี
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว) เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (Innovative Center for Production of Industrially Used Microorganisms: ICPIM) ภายใต้การกำกับดูแลของวว.ได้รับงบประมาณจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 154.13 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการลงทุนขยายกำลังการผลิตหัวเชื้อ จุลินทรีย์ให้มีปริมาณมากเพียงพอต่อการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมชีวภาพตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ ขณะนี้ วว. สามารถพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิตจุลินทรีย์โพรไบโอติกคุณภาพสูง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่โดดเด่นได้ถึง 15 สายพันธุ์ได้เป็นผลสำเร็จ โดยได้รับอนุมัติใบอนุญาตขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่ผลิตประเภทวัตถุเจือปนอาหารจากองค์การอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างการขอขยายขอบข่ายการขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่ผลิตประเภทเสริมอาหารเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติในเร็วๆ นี้
การได้รับเงินลงทุนเพิ่มขึ้นทำให้ ICPIM สามารถขยายการผลิตจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นได้ถึง 25,000 ลิตรต่อปี จากเดิมที่ผลิตได้เพียง 15,000 ลิตรต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม การดำเนินงานของ ICPIM มุ่งเน้นที่การวิจัยและพัฒนา โดยนำความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ที่ถูกจัดเก็บอยู่ในคลังหัวเชื้อกว่า 10,000 ชนิด มาพัฒนาขยายผลในระดับห้องปฎิบัติการ ด้วยกระบวนการคัดสรรจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหารมาพัฒนาให้เป็นโพรไบโอติกได้ถึง 15 สายพันธุ์ จาก 24 สายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมใช้ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร อาหารเสริม และเสริมความงามทั่วโลก
นอกจากจุลินทรีย์โพรไบโอติกจะมีประโยชน์โดยตรงในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารในการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายประเภท เช่น น้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ น้ำตาลสุขภาพ เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนม ฯลฯ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพยังสามารถพัฒนาจุลินทรีย์โพรไบโอติกให้มีคุณสมบัติเป็นทางเลือกใช้ป้องกันการเกิดโรค หรือใช้ควบคู่กับการรักษาได้อีกด้วย
“จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์เป็นสิ่งที่มีอยู่ในร่างกายคนมาตั้งแต่เกิด แต่จะลดจำนวนและปริมาณลงไปเรื่อยๆ ตามวัยและการดำรงชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป เช่น รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ เราจึงควรที่จะเติมจุลินทรีย์ตัวนี้เข้าไปเพื่อเพิ่มความสมดุล เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ซึ่งจากผลงานวิจัยหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ผลิตได้มีความเหมาะสมกับริบทของคนไทยมากกว่าจุลินทรีย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากพัฒนามาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกายและอาหารการกินของคนไทยเป็นหลัก” ดร.ชุติมา กล่าว
ปัจจุบันมูลค่าการนำเข้าหัวเชื้อจุลินทรีย์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในประเทศ อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านบาทต่อปี ความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ของ ICPIM จะสามารถชดเชยเงินลงทุนในส่วนนี้ของภาคอุตสาหกรรมได้ตั้งแต่ในช่วงแรกของการเริ่มโครงการคือประมาณ 20-30% และคาดว่าภายใน 5-7 ปีก็จะสามารถชดเชยได้ 100% การนำจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ที่ผลิตได้ในประเทศมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถยกระดับมาตรฐาน คุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ โดย ICPIM จะเป็นศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีจุลินทรีย์และกระบวนการชีวภาพต้นแบบ ที่พร้อมให้บริการและเป็นที่ปรึกษาให้กับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย
“การเดินหน้าพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่องของ ICPIM ยังเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเฉพาะทางด้านการวิจัยในอุตสาหกรรมชีวจุลินทรีย์ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเกิดอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศในอนาคต โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ICPIM ได้เป็นทั้งที่ปรึกษาและใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการให้บริการเชิงพาณิชย์ สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการและหน่วยงานของรัฐรวมทั้งสิ้น 36 ราย รวมถึงให้บริการวิเคราะห์และทดสอบด้านพิษวิทยาทางพันธุกรรม (Genetic Toxicology) ตามมาตรฐาน OECD GLP ซึ่งปัจจุบันมีเพียง ICPIM เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่สามารถให้บริการได้ นับเป็นความภาคภูมิใจและสะท้อนถึงความสามารถของนักวิจัยไทย ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดร.ชุติมา กล่าว
A8385
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ