- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 11 November 2014 19:38
- Hits: 2484
ลุยโครงการปล่อยกู้ยางหมื่นล. อุตฯมั่นใจดันราคาขึ้นอีกกิโลละ 3 บ.
แนวหน้า ; อุตฯ เดินหน้าโครงการสินเชื่อหมื่นล้านให้ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้นหวังพยุงราคาช่วงยางออกใหม่ เร่ง 6 แบงก์ปล่อยสินเชื่อเร็วที่สุด มั่นใจราคายางจะเพิ่มขึ้นทันที
นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย ความคืบหน้าในโครงการ สนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้นวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อเข้าซื้อน้ำยางดิบและเก็บสต๊อกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเดือนพ.ย. 2557-เม.ย. 2558 ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบของรัฐบาล ล่าสุดกระทรวงได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณารายละเอียดและหลักเกณฑ์โครงการ ต่อเนื่องจากที่ก่อนหน้านี้ได้หารือเงื่อนไขการให้สินเชื่อกับธนาคารที่ร่วมโครงการทั้ง 6 อาทิ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย ทหารไทย
โดยในการหารือครั้งล่าสุดได้วางคุณสมบัติผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการ ที่ต้องเป็นโรงงานที่ต้องมีใบประกอบกิจการโรงงาน(ร.ง.4) มีสถานที่ เครื่องจักรปั่นแยกน้ำยาง ถังเก็บสต๊อกน้ำยางข้นที่เหมาะสมและพอเพียง และมีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 104 ราย ที่คาดว่าจะมีความต้องการวงเงินประมาณ 80% ของวงเงินที่ทั้ง 6 ธนาคารจะให้สินเชื่อรวมกันที่ 1 หมื่นล้านบาท
“ในวันอังคารที่ 11 พ.ย. มีรายละเอียดอีกเล็กน้อยที่ต้องนำเข้าให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติ แต่ระหว่างนี้สำนักอุตสาหกรรมจังหวัดได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ประกอบการที่สนใจร่วมโครงการไปแล้วประมาณ 90 แห่ง หลังจากนี้จะเร่งผลักดันให้เกิดการปล่อยสินเชื่อเร็วที่สุด” นายสมชาย กล่าว
สำหรับ ภาพรวมผู้ประกอบการให้ความสนใจโครงการนี้มาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในสมาคมผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้น เพราะรัฐบาลเข้ามาแบ่งภาระต้นทุนดอกเบี้ยให้ 3% ในขณะที่ผู้ประกอบการจ่ายเอง 2% และเป็นมาตรการระยะสั้นระยะคืนเงินกู้ภายใน 1 ปี โดยเป้าหมายของโครงการนี้คือดูดซับปริมาณยางที่จะเข้าสู่ระบบได้ประมาณ 2 แสนตัน ส่งผลให้ราคายางเพิ่มขึ้นทันทีประมาณ 2-3 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) และขณะที่ราคาเป้าหมายตามนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลอยู่ที่ 66 บาทต่อกก.
ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณสำหรับโครงการนี้รัฐบาลมอบหมายให้สำนักงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคารที่ร่วมโครงการทั้งสิ้น 300 ล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารโครงการตลอดโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรม 1 ล้านบาท
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2557 ได้เห็นชอบการแก้ไขปัญหายางพาราตามมติของคณะกรรมการนโยบายยางพาราแห่งชาติ(กนย.) โดยให้ดำเนินการ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางพารา โครงการชดเชยรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ หรือ 15,000 บาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อประกอบอาชีพเสริม ซึ่งอยู่ในการดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และโครงการสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยางอยู่ในความดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งทั้ง 4 โครงการใช้งบประมาณรวม 10,806.46 ล้านบาท