- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 11 November 2014 19:25
- Hits: 4037
เอสเอ็มอี หวั่นศก.ครึ่งปีหลังทรุด ผวาขาดทุนเหตุกำลังซื้อหด
แนวหน้า : นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยผลการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 816 ราย จาก 12 จังหวัด เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ผลประกอบการ แผนการทำธุรกิจในปี 2558 และการประเมินผลการทำงานของรัฐบาล โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม ถึง 6 พฤศจิกายน 2557 พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะยังไม่ดีขึ้นชัดเจน และเมื่อประเมินสถานการณ์ผลประกอบการ มีผู้ประกอบการจำนวน 13.2% กังวลว่าธุรกิจจะขาดทุนในช่วงครึ่งปีหลัง โดยธุรกิจที่กังวลว่าจะขาดทุนส่วนใหญ่เป็น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และค้าปลีกค้าส่ง และจำนวน 11.3% ยังเชื่อว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอุตสาหกรรมโดยรวม
“เอสเอ็มอีไทยยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากที่สุดคือเรื่องของกำลังซื้อทั้งในประเทศ และนอกประเทศที่ยังชะลอตัว ในส่วนของสภาพคล่องต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาที่เอสเอ็มอีประสบปัญหามาตลอดยาวนาน ซึ่งผู้ประกอบการก็มีวิธีในการรับมืออยู่พอสมควร แต่ก็เชื่อว่าหากกำลังซื้อดี ก็จะทำให้ปัญหาสภาพคล่องและปัญหาอื่นๆ ดีขึ้นมาได้”
ส่วนในปี 2558 เอสเอ็มอีมองว่าเศรษฐกิจของไทยจะดีขึ้นโดยเฉลี่ยขยายตัวได้ 3.28% โดยในปีหน้าเอสเอ็มอียังมีแผนในการทำธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งแผนด้านการลงทุนจะเน้นในเรื่องของ เทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที การเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน และเครื่องมือเครื่องจักรเพิ่มขึ้น ด้านการตลาดจะเน้นการใช้ E-Marketing เพื่อการหาลูกค้าทั้งในและต่างประเทศให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการยกระดับการให้บริการลูกค้าเพื่อให้ลูกค้ามีความพึงพอใจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากประเมินถึงความพร้อมในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)แล้ว ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวลอยู่มาก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีความพร้อมในการทำธุรกิจในประชาคมอาเซียนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องของภาษา ทั้งการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ ในอาเซียน การที่รู้จักกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจในอาเซียนน้อยมาก และการจัดการกับความเสี่ยงการนำเข้า ส่งออกที่มีอยู่น้อยมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่นับจากนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการปรับตัว แก้ไขให้ได้โดยเร็ว เพื่อรองรับเออีซี
“สถานการณ์การเปิดหรือปิดกิจการของธุรกิจเอสเอ็มอีนั้นคาดว่าในปีนี้จะมีการธุรกิจเปิดกิจการใหม่ๆประมาณ 10% และปิดกิจการประมาณ 15% ซึ่งก็จะมีการเปิดและปิดที่หมุนเวียนในลักษณะนี้ทุกปี ส่วนข้อเสนอของมหาลัยฯที่มีต่อเอสเอ็มอีเพื่อรองรับการแข่งขันนั้นต้องการให้ผู้ประกอบการต้องมีความรอบคอบในการทำธุรกิจ รวมถึงต้องพัฒนาความคิดและการวางแผนในระยะยาวมากขึ้น”
ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการได้ประเมินถึงผลการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ผู้ประกอบการให้คะแนนการทำงานด้านเศรษฐกิจ 8.2 คะแนน เพราะมีความชัดเจนด้านนโยบาย การบริหารจัดการ ความโปร่งใส แต่ก็ยังแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพแรงงานได้ไม่มาก ด้านการเมือง 8.1 คะแนน โดยเฉพาะการสร้างความปรองดอง แต่ในด้านการสร้างจิตสำนึกในการเคารพกฎหมายยังไม่มาก ด้านการศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม 7.0 คะแนน โดยเฉพาะความปลอดภัยในชุมชนได้ แต่การยกระดับการศึกษาก็ยังไม่ดีพอ ซึ่งก็ไม่ได้มองว่าเป็นความผิดรัฐบาล เพราะการศึกษาไทยมีปัญหาสะสมมาตั้งแต่ในอดีตที่แก้ไขได้ลำบาก แต่ก็ต้องการให้รัฐบาลเน้นด้านนี้ด้วย
นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ อาจจะขยายตัวต่ำกว่า 1.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อช่วงกลางปี ว่าจะขยายตัวได้ 3% เนื่องจากเม็ดเงินรัฐบาลที่ลงมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังไม่สามารถทำให้ระมัดระวังการจับจ่าย รวมทั้งยอดการส่งออกยังไม่ขยายตัวอย่างที่คาดการณ์ไว้ จากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนในปีหน้า หากรัฐบาล เร่งเบิกจ่ายงบการลงทุนของภาครัฐ ผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวขึ้น มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทย จะขยายตัวได้ 4 – 5%