- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 05 November 2014 22:59
- Hits: 3396
สศอ.ปูลู่ทางขยายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับจีนตอนกลาง เร่งเสริมการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการผลิตในระดับภูมิภาค
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ศึกษามณฑลดาวรุ่งทางตอนกลางของจีนที่มีศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง ทั้งเซี่ยงไฮ้ - อันฮุย - หูเป่ย-ฉงชิ่ง และซื่อชวน ในแง่มุมด้านการค้า การลงทุนและยุทธศาสตร์รายมณฑล เพื่อเร่งเสริมการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการผลิตในระดับภูมิภาค
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)เปิดเผยผลการศึกษา โครงการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน (ยุทธศาสตร์การพัฒนาความร่วมมือ ด้านอุตสาหกรรมกับประเทศจีนรายมณฑล ระยะที่ 1) ว่า เศรษฐกิจจีนมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เป็นอย่างมาก โดยมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา นับว่าจีนมีศักยภาพสูงมากที่จะก้าวขึ้น เป็นอภิมหาอำนาจของโลก และด้วยอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 10.4 ต่อปีในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จึงคาดว่าจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในอนาคตอันใกล้
บทบาทของจีนต่อเศรษฐกิจโลกที่เด่นชัดมากที่สุดคือเรื่องของการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ จีนกลายเป็นศูนย์กลางเครือข่ายการผลิตที่สำคัญในภูมิภาค (Regional Production Network) โดยในปี 2556 จีนมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกประมาณ 4.16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ทางด้านการลงทุน ในช่วงการปฏิรูปเศรษฐกิจยุคแรกๆ ภาพลักษณ์ของจีนในตลาดโลกเป็น'ผู้บริโภคสินค้ารายใหญ่ของโลก'เนื่องจากตลาดภเยในประเทศมีขนาดใหญ่ โดยมีจำนวนประชากรราว 1,350 ล้านคน และจากข้อได้เปรียบด้านค่าแรง และการเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค ทำให้จีนเป็นแหล่งรองรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) มากเป็นอันดับสองของโลก
นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของจีนแปรเปลี่ยนจากผู้บริโภคสินค้ารายใหญ่ของโลกเป็นแหล่งผลิตสินค้าส่งออกไปขายทั่วโลก จนได้รับขนานนามว่าเป็น'โรงงานของโลก (World Factory)'โดยการผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 16.1 ต่อปี อย่างไรก็ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี ฉบับที่ 12 จีนได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการเป็นโรงงานของโลกไปสู่การเป็น'ตลาดของโลก'เนื่องจากค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น ในด้านความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีนนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลไทยและจีนได้ทำร่วมลงนามบันทึกความเข้าตกลงระหว่างไทย 6 ฉบับ เพื่อเป็นการเห็นชอบร่วมกันต่อแผนระยะยาว ในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนที่กำหนดแนวทางความร่วมมือไว้อย่างรอบด้าน โดยให้ความสำคัญพิเศษ ในด้านการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงระหว่างกัน
ด้านการค้าขายระหว่างกันนั้น ทั้งสองประเทศได้กำหนดเป้าหมายการค้าระหว่างให้บรรลุ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2558 นอกจากนี้รัฐบาลไทยได้แสดงความจำนงที่จะให้นักลงทุนจีนมาตั้งโรงงานที่ใช้สินค้าเกษตร เป็นวัตถุดิบในประเทศไทย เช่น โรงงานแปรรูปยางพารา มันสำปะหลัง และน้ำมันปาล์ม เป็นต้น ในขณะที่ลู่ทางการค้าและการลงทุนในประเทศจีนนั้น ประเด็นที่ภาครัฐและภาคเอกชนของไทยต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือ โครงสร้างและระบบเศรษฐกิจของจีน รวมทั้งกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต การค้าและการลงทุน ที่ออกโดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับมณฑล ซึ่งปัจจุบันมีความแตกต่างกันมาก นับว่าเป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับการลงทุนและการทำธุรกิจในประเทศจีน
ดร.สมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นองค์กรชี้นำนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของจีนต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยจึงได้ร่วมกับ บริษัท โซซิโอ-เอคโคโนมิค คอนซัลแตนส์ จำกัด ดำเนินโครงการศึกษากลยุทธ์และแผนพัฒนาอุตสาหกรรมกับประเทศจีนในลักษณะ'หนึ่งมณฑล หนึ่งประเทศ' โดยการเจาะลึกการพัฒนาความร่วมมือเป็นรายมณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มมณฑลที่มีศักยภาพสูง ถือเป็นมณฑลดาวรุ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ – อันฮุย-หูเป่ย – ฉงชิ่ง – ซื่อชวน เพื่อให้การพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับประเทศจีนทั้งในระดับภูมิภาค อนุภูมิภาค เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทย เริ่มจากมหานครเซี่ยงไฮ้ ที่รัฐบาลจีน วางยุทธศาสตร์การพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศใน 4 ด้าน ได้แก่ ศูนย์กลางเศรษฐกิจ การเงิน การค้า และการคมนาคมขนส่งทางเรือ และ ยังมีนวัตกรรมทางเศรษฐกิจล่าสุดคือการทดลองทำเขตการค้าเสรีนครเซี่ยงไฮ้ (SFTZ) ตามนโยบายของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
ทางด้านมณฑลอันฮุย ถูกวางยุทธศาสตร์ให้เป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นมณฑลที่มีศักยภาพ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง สามารถเชื่อมโยงการวิจัยพัฒนาจากสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ภายในมณฑลไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแพร่หลาย
มณฑลหูเป่ย ได้มียุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาชนบทในรูปแบบใหม่ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชนบทในการที่จะร่วมกันพัฒนาชนบทที่ล้าหลังให้มีความเจริญและได้มาตรฐานในการดำรงชีวิตของประชากรในชนบท ยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่จำหน่ายในราคาถูกแต่เดิม โดยการอาศัยเทคโนโลยีและการวิจัยทางด้านการเกษตรขั้นสูง เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ส่วนมหานครฉงชิ่ง นอกจากจะเป็นเมืองที่มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่สูงลำดับต้นๆของจีนแล้ว ยังมีแผนการพัฒนา เพื่อรองรับสินค้าจากมณฑลซื่อชวน ในการกระจายสินค้าสู่ภาคตะวันตกของจีนและการเชื่อมโยงกับเส้นทางการขนส่งทางแม่น้ำแยงซี ตามแผนการพัฒนาการสร้างเส้นทางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศและการพัฒนาเส้นทางสายไหมสมัยใหม่ระหว่างจีนกับเอเชีย ขณะที่มณฑลซื่อชวน ในด้านการบริโภค ตลาดมณฑลซื่อชวนจัดเป็นตลาดระดับกลาง-ล่าง แต่ก่อนชาวมณฑลซื่อชวน มีอาชีพทำการเกษตร แต่บางส่วนก็ย้ายไปทำงานด้านอุตสาหกรรมในเมืองทางภาคตะวันออก ปัจจุบันรัฐบาลจีนได้มีการส่งเสริมการลงทุนในภาคตะวันตกมากขึ้น แรงงานเหล่านั้นจึงหันกลับมาทำงานที่ถิ่นฐานเดิมในมณฑลซื่อชวน โดยจีนได้วางยุทธศาสตร์ให้มณฑลซื่อชวนเป็นแหล่งพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัย
สำหรับ รูปแบบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation) ระหว่างไทยกับจีนนั้น ผลการศึกษา ได้เสนอระดับของความร่วมมือไว้เป็น 3 ระดับ ดังนี้ ระดับพื้นฐาน (Basic Knowledge) เช่น การจัดตั้งโรงงานตัวอย่าง (Demonstration plant) ในไทย เพื่อสาธิตการผลิตโดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนของไทย ติดต่อประสานงานกับผู้บริหารมณฑลต่างๆ ของจีน ในการจัดตั้งโรงงานตัวอย่างให้ภาคเอกชนเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ส่วนระดับกลาง (Middle Stage) เป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐ (รัฐวิสาหกิจ) และภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศ จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในไทย และ/หรือในมณฑลต่างๆของจีน โดยเชิญชวนให้นักลงทุนไทยเข้าไปร่วมกับมณฑลต่างๆ ในจีน หรือเชิญชวนให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทย โดยรูปแบบความร่วมมือจะเป็นในลักษณะของการลงทุนใน โครงการร่วม (Joint Venture) ในโครงการอุตสาหกรรมการผลิตและ/หรือบริการ
นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบของความร่วมมือในระดับสูง กล่าวคือเป็นการร่วมมือด้านเทคนิค (Technical Assistance) ได้แก่ การแลกเปลี่ยนกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้านการพัฒนาและวิจัยร่วมกัน โดยผลจากการร่วมมือจะเป็นการจุดประกายและสร้างการตื่นตัวต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของทั้ง 2 ประเทศ ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมในการส่งเสริมความร่วมมือในขั้นต้น โดยประเมินจากศักยภาพและความพร้อม ของอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับความต้องการของประเทศจีน ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร กลุ่มธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม กุล่มอุตสาหกรรมเคมีและเครื่องสำอาง กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านการออกแบบเพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในเขตเมือง และกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้และวัสดุทดแทน
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม