- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 11 April 2021 10:36
- Hits: 17001
กนอ.ปลื้มนิคมฯอุดรธานีคืบหน้าแล้วกว่า 70% มั่นใจหลังเปิดประเทศ และโควิด-19 คลี่คลาย สัญญาณลงทุนเป็นบวกแน่นอน!
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีพัฒนาไปแล้วกว่าร้อยละ 70 โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมให้บริการแล้ว เชื่อหลังโควิด-19 คลี่คลายและเปิดให้มีการเข้า-ออกประเทศได้ตามปกติจะเป็นสัญญาณบวกให้มีนักลงทุนเข้ามาชมพื้นที่และตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้นจากความเชื่อมั่นในศักยภาพประเทศ และปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลได้ให้จังหวัดอุดรธานีอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEc) ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นฮับการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค!
นายธีรยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่และประชุมติดตามความคืบหน้าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมฯ โดยนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้รายงานความคืบหน้าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นความร่วมมือระหว่าง กนอ. กับ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ที่ได้ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานเมื่อปี 2557 ภายใต้แนวคิดการเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการความยั่งยืน เน้นหลักการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเจริญเติบโตให้กับคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบริบทพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความสอดคล้องกับกฎหมาย และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อีกทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ในการมีช่องทางการประกอบอาชีพในถิ่นเกิดโดยไม่ต้องอพยพไปทำงานที่อื่น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด
การพัฒนาโครงการฯล่าสุดมีความคืบหน้าไปมาก โดยขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการเฟสแรก ในการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค พื้นที่กว่า 1,300 ไร่ เช่น การพัฒนาถนนและองค์ประกอบถนน งานระบบระบายน้ำฝน งานระบบน้ำเสีย งานระบบประปา ของถนนสายต่างๆในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี รวมระยะทางทั้งสิ้น 5.67 กิโลเมตร ที่ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 75% ซึ่งตามแผนการกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564 รวมถึงการพัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ ปาร์ค (Logistics Park) พื้นที่ 600 ไร่ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางรางและโลจิสติกส์ในภูมิภาค และยังเป็นศูนย์การขนส่งสินค้าไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV และจีนตอนใต้ รวมถึงการขนส่งทางรางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะเดียวกันในส่วนของการก่อสร้างอาคารคลังสินค้าให้เช่า ซึ่งอยู่ในแผนการพัฒนาระยะที่ 1 (2564-2565) ล่าสุดอาคารคลังสินค้าทั้ง 3 หลัง รวมพื้นที่ 23,160 ตารางเมตร พร้อมเปิดบริการให้เช่าแล้ว
“จุดเด่นโครงการฯ คือการอยู่ในทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดศูนย์กลางของกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่อยู่ในแนวเส้นทาง One Belt One Road ที่เชื่อมโยงและเป็นประตูระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV และจีนตอนใต้ ผ่านเส้นทาง R3A R12 B9 และ B 8 ระบบรถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-หนองคาย และล่าสุดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 2 ที่จะขยายจากจังหวัดนครราชสีมาถึงจังหวัดหนองคาย เพื่อเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวที่ขณะนี้ โครงการมีความคืบหน้าไปมาก ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกที่ทำให้นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีมีแรงดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น คือ การที่จังหวัดอุดรธานีได้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(Northeastern Economic Corridor-NeEC) และทำให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถือเป็นโอกาสและศักยภาพที่ดีในการส่งเสริมให้มีการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จะได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)โดยได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคล 8 ปี และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรอื่นๆ ตามเกณฑ์ที่ตั้ง (Zone Based) โดยการพัฒนาโครงการฯ เป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจ NeEC ที่เน้นความสามารถในการแข่งขันเพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”นางสาวสมจิณณ์ พิลึก กล่าว
นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานี พื้นที่ประมาณ 2,170 ไร่ มูลค่าการลงทุนโครงการฯ ประมาณ 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกมี 1,325 ไร่ มีแผนพัฒนาพร้อมเปิดดำเนินการในปลายปี 2564 และเฟส 2 จำนวน 845 ไร่ ที่มีแผนจะพัฒนาในช่วงปี 2565 – 2567 โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายตามผังแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ดินของนิคมฯ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลาย อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะและประกอบรถยนต์ อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็กขั้นปลาย ศูนย์โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเหล็กขั้นปลาย และอุตสาหกรรมสนับสนุนการผลิตในพื้นที่ นอกจากนี้ โครงการฯยังมีพื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล ได้แก่ กลุ่มธุรกิจ SMEs เคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอื่น
“เชื่อว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและเปิดประเทศให้มีการเข้า-ออกได้ตามปกติ จะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีมากขึ้น ซึ่งนิคมฯแห่งนี้ จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนในภูมิภาค ที่ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในพื้นที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท และเกิดการจ้างงาน( ในนิคมฯ) ไม่ต่ำกว่า 20,000 คน และ 60,000 คน (นอกนิคมฯ) และมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นประมาณ 100 โรง ขณะเดียวกันจะสามารถสร้างรายได้ด้านภาษีอากรให้กับภาครัฐได้ถึงประมาณ 1.5-2 หมื่นล้านบาทต่อปีอีกด้วย”ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวปิดท้าย
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ