- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 28 October 2020 10:10
- Hits: 7394
วสท. ถอดบทเรียน...แนะวิธีป้องกันอันตรายจากสารแอมโมเนียในระบบเครื่องทำความเย็น
อุบัติเหตุการรั่วไหลของสารแอมโมเนียที่โรงงานน้ำแข็ง เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ผศ.ธวัชชัย นาคพิพัฒน์ กรรมการสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วสท. และนายสมยศ ใจมูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมกลุ่มธุรกิจเครื่องทำน้ำแข็ง บมจ. พัฒน์กล ร่วมกันให้ความรู้แก่สังคมไทย ณ อาคาร วสท.
แอมโมเนีย เป็นสารเคมีที่มากคุณประโยชน์แต่ก็เป็นอันตรายสูงต่อสุขภาพ เนื่องจากเป็นสารกัดกร่อนผิวหนัง ดวงตา ปอด และระบบการหายใจ ซึ่งแก๊สมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี เข้าสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกาย จะส่งผลให้อวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้รับอันตราย ซึ่งในกรณีที่ได้รับปริมาณน้อย จะมีอาการไอ หลอดลมตีบ แต่หากได้รับปริมาณมากหรือเป็นเวลานาน จะมีอาการทางเดินหายใจส่วนบนบวม ไหม้ หรืออุดกั้น จนเกิดเสียงผิดปกติขณะหายใจเข้าได้ ซึ่งในบางกรณีอาจมีความรุนแรงถึงขั้นทำลายปอด
นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า แอมโมเนียเป็นสารในการทำความเย็นของโรงงานทำน้ำแข็ง พบว่ามีสถิติสารแอมโมเนียรั่วไหลจากโรงน้ำแข็งอยู่บ่อยครั้ง ครั้งล่าสุดเป็นเหตุการณ์ที่สารแอมโมเนียรั่วอย่างรุนแรง สันนิษฐานว่าสาเหตุมาจากการชำรุดเสียหายบริเวณหน้าแปลนวาล์วเปิด-ปิดสารแอมโมเนียที่ถังพักน้ำยาเหลวความดันสูง ส่งผลให้สารแอมโมเนียรั่วออกทั้งระบบปริมาณกว่า 2 ตัน ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบโรงน้ำแข็งรัศมีกว่า 500 เมตร ต้องอพยพและได้รับความเดือดร้อน โดยทั่วไปแอมโมเนียที่ใช้ในอุตสาหกรรมจะมีแรงดันในระบบประมาณ 11.5 – 15 บาร์ สำหรับสาเหตุหลักที่มักทำให้เกิดการรั่วไหล มี 3 ส่วน คือ 1. ความบกพร่องในการซ่อมบำรุงและตรวจสอบสภาพ ทำให้เกิดการรั่วซึมและการปนเปื้อนภายในระบบ ซึ่งมีผลต่อการกัดกร่อนภายในถังแรงดันจนไม่สามารถรับแรงดันได้ 2. การประกอบติดตั้ง และการใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิศวกรรม เช่น คุณภาพเหล็กและความหนาของแผ่นเหล็กบางเกินไป, การทดสอบแรงดันไม่เป็นไปตามหลักวิศวกรรม และแนวการเชื่อมแผ่นเหล็กของถังความดันไม่สนิทและไม่มีการตรวจสอบรอยเชื่อมด้วยการเอ็กซเรย์ และ 3. อายุการใช้งานของอุปกรณ์ เช่น การเสื่อมสภาพปะเก็น และซีลวาว์ลต่างๆ
ตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ดังนี้ 1.ออกคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญซ่อมแซมเครื่องจักรที่ชำรุดเสียหาย และให้มีวิศวกรเครื่องกลที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจสอบความปลอดภัยก่อนอนุญาตให้เปิดดำเนินการอีกครั้ง 2.ให้ทบทวนปรับปรุงแผนฉุกเฉิน กรณีสารแอมโมเนียรั่วไหลให้สมบูรณ์ 3.จัดให้มีช่างควบคุมระบบสารทำความเย็นที่ผ่านการอบรมความปลอดภัยจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 4.จัดทำแผนผังโรงงาน (As-Built Drawing) ให้เป็นปัจจุบัน แล้วส่งมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการเข้าระงับเหตุหากเกิดเหตุครั้งต่อไป
ผศ.ธวัชชัย นาคพิพัฒน์ กรรมการสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วสท. กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มใช้สารแอมโมเนียในการทำความเย็นมานานกว่า 90 ปี โดยเมื่อปี พ.ศ. 2535 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้บังคับใช้กฎหมายเครื่องทำความเย็นด้วยแอมโมเนียครั้งแรก และปี พ.ศ. 2554 ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุม ทั้งการออกแบบ การผลิต การติดตั้ง การใช้งาน การบำรุงรักษา การซ่อม การทดสอบ การตรวจสอบ การยกเลิกการใช้งาน ลักษณะของอาคาร คุณสมบัติของบุคลากร การควบคุมการปล่อยมลพิษ การเตรียมความพร้อมแผนฉุกเฉิน
ปัจจุบันสารแอมโมเนียได้ถูกนำไปใช้ทั้งในห้องเย็นขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมแช่แข็ง เพื่อเป็นการถนอมและยืดระยะเวลาในการเก็บรักษาวัตถุดิบ ถึงแม้สารแอมโมเนียจะมีความเป็นพิษและอันตรายเมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกาย แต่ข้อดีและคุณสมบัติทางความร้อนดีกว่าสารทำความเย็นอย่างอื่น ดังนั้นหลายๆ ประเทศจึงเลือกใช้สารแอมโมเนียในการทำความเย็น นอกจากนี้สารแอมโมเนียไม่ทำลายชั้นโอโซน ไม่ส่งผลทำให้โลกร้อน และสารแอมโมเนียมีราคาถูกกว่าสารทำความเย็นอย่างอื่น ผู้ประกอบการโรงน้ำแข็งจึงนิยมใช้เพื่อความคุ้มค่าทางธุรกิจ นอกจากนี้สารแอมโมเนียสามารถเปลี่ยนจากของเหลวกลายเป็นแก๊สได้รวดเร็ว ทำให้ค่า Coefficient of Performance (COP) หรือประสิทธิภาพของระบบทำความเย็นที่สูงกว่าสารทำความเย็นอย่างอื่น จึงใช้พลังงานและปริมาณแอมโมเนียน้อยกว่าในการผลิตน้ำแข็ง เมื่อเทียบกับสารทำความเย็นชนิดอื่น เช่น R22, R134A และ R404A
นายสมยศ ใจมูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมกลุ่มธุรกิจเครื่องทำน้ำแข็ง บมจ. พัฒน์กล กล่าวว่า ผู้ประกอบการ ผู้ตรวจสอบ และผู้ใช้งานควรใส่ใจและให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ พร้อมทั้งปฏิบัติตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.3023-2563 และข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด ศึกษาข้อดี-ข้อเสียการใช้งานสารแอมโมเนียในการทำความเย็น การจัดทำแผนความปลอดภัยและการบำรุงรักษาจากทั้งผู้ประกอบการและวิศวกรผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ มีการออกแบบอาคารถูกต้องตามหลักวิศวกรรม ทางหนีฉุกเฉิน มีช่องระบายอากาศเพียงพอ รวมถึงการออกแบบติดตั้งอุปกรณ์ระบบความเย็นที่ถูกต้องได้มาตรฐาน การจัดเตรียมอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยเพียงพอ และจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญดูแลควบคุมในส่วนที่มีความเสี่ยงสูงอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ สมาคมเครื่องทำความเย็นไทย และกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีแนวทางร่วมกันในการจัดอบรมพัฒนาวิศวกรตรวจสอบความปลอดภัย และจัดอบรมเพิ่มพูนองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญให้แก่ผู้ใช้งาน รวมถึงการผลักดันการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตออฟติง IoT เพื่อการสื่อสารเชื่อมต่อการตรวจสอบควบคุมและการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ ช่วยให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานผู้ดูแลสามารถทราบปัญหาและเข้าแก้ไขได้ทันท่วงที ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของประเทศไทยด้วย
A10671
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ