- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 22 October 2020 18:38
- Hits: 14467
ทีเส็บ พลิกโฉมอุตสาหกรรมไมซ์
ประกวดสตาร์ทอัพ 5 ทีมสุดท้าย เข้ารอบชิงเทคโนโลยีงานไมซ์สมัยใหม่
ทีเส็บ จัดการแข่งขัน Thailand’s MICE Startup มีสตาร์ทอัพ บริษัทผู้ผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยี ร่วมผู้ประกอบการไมซ์เข้าร่วมคึกคัก คัดเหลือ 5 ทีมสุดท้าย ที่คิดค้นผลงานนวัตกรรมเพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดงานฝ่าวิกฤตโควิด 19 เข้าชิงชนะเลิศวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า การจัด ‘โครงการแข่งขันประกวดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดงานไมซ์’ หรือ ‘Thailand’s MICE Startup’ ปีที่ 3 เป็นเวทีพัฒนานวัตกรรมช่วยแก้ปัญหาและการทำงานของธุรกิจไมซ์ให้ง่ายขึ้น นำไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในธุรกิจไมซ์กับเครือข่ายนวัตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน
ในปีนี้การจัดโครงการ Thailand’s MICE Startup ปีที่ 3 มุ่งส่งเสริมกลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup) และบริษัทผู้ผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Tech Entrepreneurs) ให้ร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีแก้ปัญหาธุรกิจไมซ์จากสถานการณ์โควิด 19 และจะต้องจับคู่กับผู้ประกอบการไมซ์โดยตรง เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์และตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจ
“ผลงานที่เกิดขึ้นจะทำให้อุตสาหกรรมไมซ์ของไทยก้าวไปอีกขั้นหนึ่งด้วยเทคโนโลยีที่คนไทยคิด ช่วยยกระดับการบริหารและบริการทั้งในอุตสาหกรรมไมซ์และด้านนวัตกรรมของประเทศไปพร้อมๆ กัน”
การดำเนินงานนับจากเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา โครงการประกวดได้รับความสนใจโดยมีสตาร์ทอัพมากถึง 23 ราย เข้าร่วมโครงการ ซึ่งคณะกรรมการได้คัดเลือกจนเหลือ 5 ทีมเข้าชิงชนะเลิศในรอบสุดท้าย ซึ่งยังได้รับโอกาสในการเข้าร่วม “โครงการบ่มเพาะ - Incubation Program” ด้วยความร่วมมือกับ RISE (Regional Corporate Innovation Powerhouse) หรือสถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มทักษะจากผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาต่อยอดเป็นเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่สามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการไมซ์และนำไปใช้งานได้จริง
คณะกรรมการใช้เกณฑ์การคัดเลือก 5 ด้าน คือ 1. ผลตอบแทนทางธุรกิจต่อบริษัทผู้ประกอบการไมซ์ 2. ผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมไมซ์ 3. นวัตกรรมที่ตอบโจทย์วิถีใหม่ และสร้างคุณค่าใหม่ 4. นวัตกรรมที่ก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ 5. ความเป็นไปได้และความเหมาะสมของแผนงาน จนได้ 5 ทีมสุดท้ายประกอบด้วย
1. Loops กับผู้ประกอบการ MICE Communication พัฒนานวัตกรรม Vanpooling for Mega Sport Events แก้ปัญหาที่จอดรถและระบบจราจรให้กับผู้เข้าร่วมงานในการจัดงานเมกะอีเวนต์ด้านกีฬา พัฒนาแพลทฟอร์มที่อำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่จะมาร่วมงานโดยการเตรียมรถรับส่งมายังบริเวณงาน มีบริการรองรับทั้งระบบจองและซื้อตั๋วผ่านไลน์ รวมถึงการบริหารคิวรถรับส่ง และบริการดูแลลูกค้าที่มาร่วมงาน
2. SSP Platforms กับผู้ประกอบการ Green World Media พัฒนานวัตกรรมโมเดลธุรกิจสำหรับการจัดงานเสมือนจริง (New Business Model for Virtual Events) เพื่อช่วยลดต้นทุนการทำ 3D สำหรับการจัดงานแสดงสินค้าเสมือนจริง (Virtual Exhibition) โดยการออกแบบ 3D ให้เป็นรูปแบบ Modular Plug & Play หรือระบบซึ่งช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆ เชื่อมต่อสามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติ โดยนำไปใช้ซ้ำในงานต่อไปได้อีก ไม่ต้องออกแบบ 3D ใหม่ทุกครั้ง ช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุน
3. Potioneer กับผู้ประกอบการ ไบเทค ร่วมพัฒนาบริการเชฟเทเบิ้ลสำหรับสถานที่จัดงานและผู้จัดงาน (New Use Case of Chef’s Table for Luxury Venue and Organizer) รวบรวมคัดสรรเชฟชั้นนำทั่วประเทศ จากเดิมที่จะมีการจัดกันในโรงแรมหรือร้านอาหารชั้นนำเท่านั้น ปรับสร้างสรรค์บริการใหม่ในรูปแบบเชฟเทเบิ้ลในศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม
4. Alto Tech กับผู้ประกอบการ SYN Hotel ออกแบบนวัตกรรมเพื่อช่วยโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กประหยัดค่าไฟฟ้า โดยการนำ AI เข้ามาควบคุมระบบ
5. NewMediaX กับ ผู้จัดงาน Thailand Toy Expo พัฒนานวัตกรรมที่ช่วยให้ผู้จัดงานแบบออฟไลน์ผสมออนไลน์เพิ่มการสร้างการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการจัดงานแสดงสินค้าเสมือนจริง (Driving Offline & Online Engagement for Hybrid Exhibition) ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมออนไลน์มีส่วนร่วมกับกิจกรรมออฟไลน์ได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมกิจกรรมออฟไลน์สามารถใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์เพื่อเติมเต็มประสบการณ์เข้าร่วมกิจกรรม และขยายฐานผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เพิ่มมากขึ้น
การแข่งขันรอบสุดท้ายจะมีขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายนเพื่อหาผู้ชนะ 3 ราย ชิงเงินรางวัลรวมทั้งสิ้น 750,000 บาท แบ่งเป็น รางวัลชนะเลิศ 400,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 200,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง 100,000 บาท และรางวัลพิเศษป๊อปปูล่าโหวตอีก 50,000 บาท
นอกจากนี้ ทีเส็บ ยังจะนำผลงานของผู้สมัครทั้ง 23 รายเผยแพร่นวัตกรรมและบริการในแคตตาล็อคนวัตกรรมไมซ์ (MICE Innovation Catalog) เพื่อเพิ่มโอกาสการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการไมซ์รายอื่นอีกด้วย
โครงการ Thailand’s MICE Startup ได้รับความร่วมมือ สนับสนุนจากภาคีต่างๆ ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) (TEA) สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (TICA) สมาคมโรงแรมไทย (THA) และหน่วยงานพันธมิตร
A10590
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ