WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สสว.จับมือ 22 หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เสริมศักยภาพ SMEs พร้อมรับ AEC

    สสว. จับมือ หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน จำนวน 22 หน่วยงาน ร่วมส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกิจกรรมการเชื่อมโยงข้อมูลความรู้ การเจรจาจับคู่ธุรกิจ การศึกษาดูงาน ฯลฯ หวังสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้เติบโต เข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและระดับสากล คาดจะมีผู้ประกอบการ SMEs เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 1,500 ราย

     นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากสามารถสร้างมูลค่าตลาดสินค้าและบริการ หรือ GDP รวมถึง 4.21 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37 ของประเทศ มีมูลค่าการจ้างงานกว่า 11.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 80.4 ของแรงงานภาคเอกชน

    ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครือข่ายในการทำงานร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานอย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรม

    “การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งการสร้างองค์ความรู้ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs ไม่ว่าจะเป็น องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการองค์กร ด้านการเงิน ด้านการตลาด การผลิต ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ จะเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย มีศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไปในระดับสากล

   นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และเป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน และมีความพร้อมในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

  โดยในปี 2556 สสว. ได้ลงนามความร่วมมือข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และสถาบันการเงิน จำนวน 13 หน่วยงาน เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งที่เป็นสมาชิก สสว. และลูกค้าหรือสมาชิกของสถาบันการเงินและองค์กรเอกชน อาทิ กิจกรรมอบรมความรู้ที่จะเป็นต่อผู้ประกอบการ กิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจ กิจกรรม Workshop การเปิดร้านค้าออนไลน์ การเยี่ยมชมกิจการของผู้ประกอบการต้นแบบ เป็นต้น

    “การดำเนินการในปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ SMEs เข้าร่วมและได้รับประโยชน์จากการร่วมกิจกรรมต่างๆ จำนวน 1,323 ราย ซึ่งเป็นที่มาของการขยายความร่วมมือไปยังองค์กรต่างๆ ในการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มขึ้นในปีนี้

    โดยในปี 2557 สสว. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และสถาบันการเงิน เพิ่มขึ้นจาก 13 หน่วยงาน เป็น 22 หน่วยงาน เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่ 1.ธนาคารกสิกรไทย 2.ธนาคารกรุงเทพ 3.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 4.ธนาคารไทยพาณิชย์ 5.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 6.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 7.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 8.ธนาคารออมสิน 9.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม 10.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด 11.บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 12.บริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จำกัด (มหาชน) 13.บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด 14.บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด 15.บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) 16.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 17.บริษัท โกลบอล โปร บิซิเนสส์ โซลูชั่น (ประเทศไทย) จำกัด 18.บริษัท เอทิฮัด แอร์เวย์ จำกัด 19.บริษัท โมโจ โมบาย จำกัด 20.บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด 21.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ 22.สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย

   ส่วนวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในครั้งนี้คือ 1.เพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายผู้ให้บริการผู้ประกอบการ SMEs ที่มีการหารือประสานงานกันเพื่อให้บริการและประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกอบการ SMEs 2.เพื่อประสานความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ SMEs 3.เพื่อร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมด้านการจัดหาองค์ความรู้และการถ่ายทอดองค์ความรู้ การให้คำปรึกษาแนะนำในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่างๆ และกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ รวมถึงการจัดหาสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการดำเนินธุรกิจ และ 4.เพื่อลดช่องว่างในการบริการด้านองค์ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SMEs

    สำหรับการดำเนินการ จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มส่งเสริมด้านการเงิน โดยสถาบันการเงินจะให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน สินเชื่อ และการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการเงิน กลุ่มส่งเสริมด้านการค้า การตลาด และอื่นๆ จะให้การส่งเสริมตลาดทั้งในและต่างประเทศ การจับคู่ธุรกิจเพื่อการขยายสู่ตลาด AEC การให้สิทธิประโยชน์ด้านการค้าและบริการ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะให้สิทธิประโยชน์ด้านการสื่อสารและการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ

   “สสว.มั่นใจว่า ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ จะได้ก่อให้เกิดการบูรณการร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อให้เกิดเครือข่ายการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่กว้างขวางและเข้มแข็ง ตลอดจนจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูล รวมถึงองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยคาดผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ผ่านความร่วมมือในปีนี้ ไม่น้อยกว่า 1,500 ราย เพื่อก่อให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจ การสร้างมูลค่าทางด้านการค้า และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!