- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 25 October 2014 12:41
- Hits: 3887
กนอ.เล็งแก้กฎหมายขยายขอบข่ายลงทุน เพิ่มรายได้รองรับนิคมใหม่
แนวหน้า : นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงแนวทางการปรับปรุงการทำงานของ กนอ. ว่า ขณะนี้ กนอ.อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 โดยจะแก้ใน 4 ข้อหลัก ได้แก่ 1.เพิ่มวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง กนอ.ให้สามารถตั้งนิติบุคคล เพื่อให้ กนอ.ทำหน้าที่โฮลดิ้งลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรม เช่น การก่อสร้างและบริหารท่าเรือ โรงไฟฟ้า ผลิตน้ำประปา การบำบัดน้ำเสีย การสร้างโรงงานสำเร็จรูป เป็นต้น เพื่อเพิ่มรายได้และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในนิคมฯ
2.เพิ่มขอบข่ายการทำพาณิชยกรรม ซึ่งขณะนี้ก็มีเขตฟรีโซนรองรับการส่งออกแล้ว แต่กฎหมายยังไม่มีความชัดเจน เพื่อรองรับการลงทุนสร้างนิคมฯบริการ และนิคมฯโลจิสติกส์ เป็นต้น 3.พัฒนานิคมฯคอนโดมิเนียม เพื่อเปิดให้ กนอ.สามารถทำนิคมฯเชิงดิ่งได้ จากปัจจุบันที่กฎหมายกำหนดให้เพียงการทำนิคมฯเชิงราบ ที่เป็นการสร้างนิคมฯเป็นหลังๆ บนพื้นที่ ไม่สามารถทำเป็นตึกให้หลายโรงงานอยู่ในตึกเดียวกันได้
โดยนิคมฯคอนโดมิเนียมกำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ที่สร้างคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่แล้วให้อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมครีเอทีฟ ดิจิตอลคอนเทนต์ และอุตสาหกรรมบริการ ที่ใช้พื้นที่ไม่มากมาใช้บริการ ซึ่งจะเป็นการประหยัดพื้นที่ และลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากจะใช้ระบบสาธารณูปโภค ห้องแล็ป ห้องวิจัยร่วมกัน
4.เพิ่มอำนาจในการอนุญาตต่างๆให้เป็นวันสต็อปเซอร์วิสอย่างแท้จริง โดยปัจจุบัน กนอ.สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการออกใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ของหน่วยงานอื่นได้เพียง 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.โรงงาน, พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน และพ.ร.บ.ควบคุมโรงงาน ซึ่งไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่จำเป็นในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ เช่น การขยายขอบข่ายการออกใบอนุญาตให้ครอบคลุมในเรื่องการออกใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
“การแก้ไข พ.ร.บ.การนิคมฯก็เพื่อปรับปรุงรูปแบบการทำให้ให้คล่องตัว สอดคล้องกับการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยคาดว่าจะศึกษาเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ. ในเดือนธันวาคมนี้ หากได้รับความเห็นชอบก็จะส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป” นายวีรพงศ์ กล่าว
ส่วนในปี 2558 จะเร่งตั้งนิคมฯเฉพาะทาง ได้แก่ นิคมฯยางหรือรับเบอร์ซิตี้ ซึ่งขณะนี้ได้ออกแบบเสร็จแล้ว จะเริ่มก่อสร้างในปี 2558 และแล้วเสร็จภายในปี 2559 โดยในระหว่างก่อสร้างในช่วงกลางปี 2558 จะตั้งสำนักงานขายทันที เพื่อดึงลูกค้าให้เข้ามาตั้งโรงงานโดยเร็ว รวมทั้งจะเดินหน้านิคมฯอากาศยานและศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นโครงการที่ทำร่วมกับกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะศึกษาเสร็จในช่วงกลางปี 2558 และจะเดินหน้านิคมฯพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อกำจัดขยะอุตสาหกรรมครบวงจร