- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 02 October 2020 15:50
- Hits: 9410
อก. เผย MPI เดือน ส.ค. ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 4.81 ส่งสัญญาณต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างศก. ไทย หลังต่างชาติประสบปัญหาโควิด-19 ระลอก 2
อก. เผย MPI เดือน ส.ค. ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 4.81 ส่งสัญญาณต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างศก. ไทย หลังต่างชาติประสบปัญหาโควิด-19 ระลอก 2 กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2563 ขยายตัวร้อยละ 4.81 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อีกทั้งอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 60.69 สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ผ่านจุดต่ำสุดและทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติ หลายอุตสาหกรรมหลักเริ่มทยอยกลับมาขยายตัว อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ต่างประเทศมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 2 ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะภาคบริการและท่องเที่ยว ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและหันมาให้ความสำคัญการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) โดยที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.81 โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนสิงหาคมขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 60.69 จากเดิมที่ระดับ 57.58 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2563 จะยังคงหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.34 แต่เป็นการหดตัวที่ลดลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 12.93 เข้าสู่เลขหลักเดียว สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ผ่านจุดต่ำสุด และกำลังทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติในช่วงก่อนหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าประเทศไทยจะไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 สอดคล้องกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอุปโภคและบริโภค เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) หลายตัวยังคงขยายตัวดี เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยารักษาโรคที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน
สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศยังคงน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง ประเทศไทยที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจพึ่งพาต่างประเทศมากจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและหันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น โดยที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น อีกทั้ง ภาคการผลิตอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงก่อนเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ภาครัฐได้เตรียมดำเนินนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายประเทศผ่านโครงการ คนละครึ่ง เพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศ อีกทั้งยังได้จัดงาน Job Expo Thailand 2020 เพื่อเป็นช่องทางหางานให้กับผู้ว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ได้ผลักดันแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลให้เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ลดการนำเข้าจากต่างประเทศและหันมาใช้เครื่องจักรกลที่ผลิตภายในประเทศแทน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาต่างประเทศ’ นายสุริยะ กล่าว
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยค่อยๆ ฟื้นตัวหลังจากที่ภาครัฐมีการคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนสิงหาคมขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 60.69 ใกล้เคียงกับสภาวะก่อนหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกันกับกำลังซื้อภายในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.50 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และหดตัวในอัตราที่น้อยที่สุดในรอบ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่างประเทศยังคงประสบปัญหาในการควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศให้ชะลอตัวลง ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีการพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
นายทองชัย กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร (หักน้ำตาล) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.40 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.50 และจากผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรเตรียมพร้อมที่จะเพาะปลูกอีกครั้ง ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหลักๆ ได้เริ่มฟื้นกลับมาโดยเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ได้เพิ่มกำลังการผลิตในเดือนสิงหาคมมาอยู่ที่ระดับ 59.81 จากระดับ 45.85 ในเดือนก่อน โดยความต้องการจากตลาดในประเทศขยายตัวร้อยละ 16.10 หลังผู้ประกอบการเริ่มกลับมาเปิดสายการผลิตครบทุกค่ายรถแล้ว รวมทั้งมีการทำกิจกรรมกระตุ้นตลาดในประเทศ ประกอบรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนสิงหาคม ได้แก่
ปุ๋ยเคมี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 66.76 เนื่องจากฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวได้ตามปกติจึงมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น
เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.60 จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็นและเครื่องซักผ้า โดยตู้เย็น ผู้บริโภคภายในประเทศยังมีความต้องการสำรองอาหารสดเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับลดราคาเพื่อขยายฐานลูกค้า ในขณะที่เครื่องซักผ้าได้มีการเปิดช่องทางการตลาดใหม่ ทำให้มีคำสั่งซื้อจากตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกเพิ่มขึ้น ไปยังประเทศมาเลเซียและญี่ปุ่น
เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.75 จากผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนทำด้วยไม้และโลหะ เนื่องจากผู้ผลิตได้เร่งผลิตให้ทันส่งมอบทั้งตลาดในประเทศและส่งออก โดยเป็นคำสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็กและราคาไม่สูงมากส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น
อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.82 จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง เนื่องจากความต้องการมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.42 เนื่องจากมีความต้องการสินค้าจำนวนมากหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลกโดยเฉพาะในตลาดส่งออกสำคัญยังมีการระบาดอยู่ ประกอบกับช่องทางการค้าปลีกมีการขยายตัวได้ดีขึ้น
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ