- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 29 August 2020 11:07
- Hits: 6254
สอวช. จัดเวทีเจาะลึกแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร โอกาสของไทยในตลาดโลกยุคนิวนอร์มัล
ผุดไอเดีย Food Navigator นำทางสร้างความเข้มแข็งให้ SME ในธุรกิจอาหารของไทย
เวที Recovery Forum ในสัปดาห์นี้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดขึ้นในหัวข้อ “แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร: โอกาสของประเทศไทยในตลาดโลกยุคนิวนอร์มัล” โดยได้รับเกียรติจาก นายพูลสวัสดิ์ เผ่าประพัธน์ ที่ปรึกษาคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มาแลกเปลี่ยน
นายพูลสวัสดิ์ ได้เจาะลึกอุตสาหกรรมอาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมี 5 ปัจจัยที่เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง คือ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประชากรโลกที่มีอายุมากขึ้น ความเป็นสังคมเมือง การเปลี่ยนของขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยได้แลกเปลี่ยนถึงไอเดียธุรกิจอาหารในอนาคตว่าจะเกิดวัตถุดิบเลียนแบบที่มาทดแทนวัตถุดิบดั้งเดิม ขนมแช่แข็ง อาหารพร้อมทาน อาหารเสริมเด็ก โปรตีนบาร์ที่มาจากแมลง อาหารเหลวสำหรับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เครื่องดื่มให้พลังงาน รวมถึงขนมขบเคี้ยวที่มาจากผัก ผลไม้ ซึ่งการจะสร้างธุรกิจอาหารในอนาคตให้ประสบความสำเร็จ ต้องคำนึงถึงไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้า เน้นจุดขายเพื่อสุขภาพ ตลาดผู้สูงอายุ จุดขายเรื่องรักษ์โลก รวมถึงจุดขายด้านความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น
“ช่วงสถานการณ์โควิด-19 รูปแบบของธุรกิจอาหารปรับตัวอย่างรวดเร็ว อย่างในยุโรปเกิด Ghost Kitchen หรือการขายแบบไม่มีหน้าร้านเพื่อรองรับตลาดออนไลน์ รวมถึงเกิด Mobile Kitchen โดยสั่งผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งเป็นการปรับตัวของธุรกิจอาหารที่น่าสนใจและได้ผลตอบรับที่ดีมาก จากข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมฯ พบว่าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดนิวนอร์มัลในธุรกิจอาหาร คือ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวจากโลกออฟไลน์สู่โลกออนไลน์เพื่อตอบรับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค การปรับตัวของร้านอาหารสู่แพลตฟอร์ม Food Delivery โดยในช่วงโควิด ผู้คนหันมาใช้บริการ Food Delivery มากถึง 85% และจากที่ผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น การพัฒนาอาหารในรูปแบบอาหารเพื่อสุขภาพยังคงเติบโตได้ดี และพฤติการการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคเปลี่ยนไปคือ ซื้อสินค้าและบริการด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ เนื่องจากเศรษฐกิจฝืดเคือง” นายพูลสวัสดิ์ กล่าว
ข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ยังได้เปิดเผยถึงเทรนด์อาหารในปี 2020 ที่แนะให้ผู้ผลิตเร่งปรับตัวรับกระแสสุขภาพ คือ เทรนด์โปรตีนทางเลือกทดแทนเนื้อสัตว์ ลดน้ำตาลและหันมาใช้ความหวานที่เป็นมิตรกับสุขภาพ อาหารพร้อมทานเพื่อสุขภาพ ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับอาหารผู้สูงอายุและโภชนาการเฉพาะบุคคล เน้นวัตถุดิบและส่วนผสมที่มาจากท้องถิ่น การเพิ่มขึ้นของเครื่องดื่มสีใสที่แต่งกลิ่นและรสชาดให้สดชื่นยิ่งขึ้น รวมถึงเทรนด์ Function Food เป็นต้น
นอกจากนี้ นายพูลสวัสดิ์ ยังได้เสนอแนวคิดเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ SME ในธุรกิจอาหารของไทย ผ่านการเสนอแนวคิด Food Navigator ที่จะเป็นแพลตฟอร์มรวมข้อมูลมหาศาลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ คือ แหล่งเกษตรกรรม แหล่งเพาะปลูก ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ งานวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กลางน้ำ คือ ระบบการขนส่ง คลัง โรงงานผลิตและแปรรูปอาหาร เทคโนโลยี และปลายน้ำ คือ ตลาดในประเทศ ตลาด AEC ตลาดโลก ตลอดจนข้อมูลอุปสงค์อุปทาน เป็นต้น ซึ่งหาก Food Navigator เกิดขึ้น จะเป็นเครื่องมือนำทางสำคัญของ SME ไทยในการเพิ่มโอกาสดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้
ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า แนวคิด Food Navigator เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ที่นำความต้องการของตลาดเป็นตัวตั้ง โจทย์สำคัญคือ แหล่งที่มาของข้อมูลความต้องการของตลาด ซึ่งส่วนใหญ่มีอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ เราจะสร้างกลไก หรือประสานความร่วมมืออย่างไรเพื่อให้เกิดการแชร์ข้อมูล และเมื่อมีข้อมูลอยู่ในมือแล้วควรมีทีมที่ช่วยวิเคราะห์แปลงผลความต้องการของตลาดให้ SME หรือไม่ หรืออีกแนวทางคือมีความจำเป็นที่ต้องเสริมทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดให้ SME เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่ไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยหรือไม่ส่วนด้านการบริหารจัดการแพลตฟอร์มต้องหาแนวทางที่จะมาช่วยขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้ เช่น ทำให้เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างรายได้ และสร้าง eco-system ให้กับแพลตฟอร์ม เป็นต้น
AO8839
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ