- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 10 August 2020 22:18
- Hits: 4008
กระทรวงอุตฯ ลงพื้นที่คิกออฟแหล่งเรียนรู้ชุมชนตะเคียนเตี้ย
นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่ชุมชนตะเคียนเตี้ย บางละมุง จ.ชลบุรี เพื่อศึกษาความก้าวหน้าการยกระดับโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) ภายใต้โครงการ “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ และมีศักยภาพสำหรับการเป็นศูนย์การเรียนรู้
นายธีระยุทธ กล่าวว่า ชุมชนตะเคียนเตี้ย ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบที่สำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กสอ. เข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนให้เข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งในด้านการพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ ผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center : ITC 4.0) ในการต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น การสร้างโอกาสทางการตลาด ด้วยระบบออนไลน์ หรือ e-commerce ให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ตลอดจนการพัฒนา การบริการให้ได้มาตรฐานของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และมาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ตามมาตรการของภาครัฐผ่าน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ซึ่ง กสอ. ทำหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกชุมชน และผู้ประกอบการ รวมทั้งยังได้เปิดหลักสูตรอบรมการบริหารจัดการธุรกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการทำการตลาดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และวิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาศักยภาพชุมชนกับ อว. ครั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับหมู่บ้าน CIV 5 ดาว ไปอีกขั้นหนึ่ง โดยการนำความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาที่มีไอเดียใหม่ๆ มาผสมผสานกับวิถีชุมชนเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ให้เกิดความแปลกใหม่โดยการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ การตลาด การนำองค์ความรู้ด้านภูมิสถาปัตย์เข้ามาพัฒนา ตลอดจนการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว เพื่อรองรับกับการท่องเที่ยวที่มีหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยยังคงต้องรักษาอัตลักษณ์และเกิดความร่วมมือจากชุมชน ทำให้นักศึกษาได้เพิ่มประสบการณ์นอกห้องเรียนเพิ่มทักษะก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ปัจจุบัน กสอ.ได้ดำเนินการร่วมกับ อว. ในการพัฒนาหมู่บ้าน CIV 5 ดาว ไปแล้ว 11 ชุมชนนำร่องของปีงบประมาณ 2563 ส่วนชุมชนตะเคียนเตี้ยจะร่วมมือกับ อว.ดำเนินงานในปีงบประมาณ 2564 โดยจะนำทีมนักศึกษา ชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 จำนวน 8-10 คน ต่อทีม ที่เป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาจากสาขาวิชาต่างๆ ลงพื้นที่ศึกษาและจัดทำแผนงานร่วมกับชุมชนในการพัฒนาต่อยอดจากการเป็นหมู่บ้าน CIV 5 ดาว ไปสู่การพัฒนาชุมชนให้มีความหลากหลายมากเพื่อให้เกิดศักยภาพสูง ทั้งทางด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ การพัฒนาเทคโนโลยี การผลิต และการตลาด รวมทั้ง ยังเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ เข้ามาเรียนรู้ความสำเร็จที่เกิดขึ้น
สำหรับ ชุมชนตะเคียนเตี้ยเป็น 1 ใน 250 หมู่บ้าน CIV ที่กสอ. ได้ดำเนินงานตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบัน และเป็นหนึ่งใน 27 ชุมชนแรก ที่ กสอ. ได้เข้าไปพัฒนาโดยได้บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงจากแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งความโดดเด่นของชุมชนตะเคียนเตี้ยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีการบริหารจัดการโดยชุมชนมีการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวหลักที่มีอยู่ เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญของภาคตะวันออกและชุมชนได้ร่วมมือกันพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยววิถีมะพร้าวชาวตะเคียนเตี้ย” ประกอบกับในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา การดำเนินงานที่เข้มแข็งของชุมชน ส่งผลให้แรงงานในชุมชนมีงานทำ ทั้งยังสามารถรองรับแรงงานที่อพยบกลับภูมิลำเนา ซึ่งสามารถสร้างผู้ประกอบการใหม่ในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น และในปีนี้ กสอ. ตั้งเป้าจะพัฒนาหมู่บ้าน CIV 5 ดาว 170 แห่ง จากในขณะนี้มีจำนวน 11 แห่ง โดยในปีที่ผ่านมาสร้างรายได้กว่า 50 ล้านบาท
ขณะที่นางวันดี ประกอบธรรม ผู้นำชุมชน กล่าวว่า ชุมชนตะเคียนเตี้ย มีพื้นที่สวนมะพร้าวกว่า 8,000 ไร่ ซึ่งเป็นจุดเด่นในการทำการท่องเที่ยวชุมชน ทั้งโฮมสเตย์ที่พัก การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ทำการตลาดทางออนไลน์เพื่อแข่งขันกับการท่องเที่ยวที่อื่น แต่ก็ยังอยู่บนพื้นฐานของการอนุรักษ์ชุมชน สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม โดยในแต่ละวัน จะมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา และหากจะพักที่โฮมสเตย์ก็จะต้องมีการจองล่วงหน้า เพื่อที่ชาวบ้านจะได้เตรียมความพร้อมในการต้อนรับเป็นอย่างดีซึ่งเป็นเสน่ห์ของชาวบ้าน โดยในปีที่ผ่านมามีรายได้เข้าสู่ชุมชนกว่า 2 ล้านบาท และในเดือนสิงหาคมนี้มียอดจองของนักท่องเที่ยวเต็มจำนวนกว่า 600-700 คน
สำหรับในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ชุมชนไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นการใช้ชีวิตแบบปกติ และก็ได้เป็นการฟื้นฟูธรรมชาติ และการพัฒนาชุมชนเพื่อรอรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงหลังสถานการณ์โควิดอยู่แล้ว
โดยในระยะหลังที่ชุมชนมีการพัฒนาให้เป็นหมู่บ้าน CIV มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 20-30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นการก้าวกระโดด และในระยะหลังก็มีนักเที่ยวชาวต่างชาติมาเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยในปีที่แล้วมีมากว่า 800 คน
AO8260
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ