- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 17 October 2014 12:27
- Hits: 2620
ศก.โลกชะลอตัวลงทุนรัฐ-เอกชนวูบ ธุรกิจเอสเอ็มอีอ่วมปิดกิจการเพิ่ม 6.51%
แนวหน้า : รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยสถานการณ์ SMEs ประจำเดือนสิงหาคม และช่วง 8 เดือนแรกของปี2557 (มกราคม-สิงหาคม)ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศรวมถึงการจัดตั้งและยกเลิกกิจการของSMEs พบว่าชะลอตัวเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกรวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ-เอกชนที่หดตัวลงหลังจากเร่งขยายตัวไปมากภายหลังที่สถานการณ์การเมืองคลี่คลาย
อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีสถานการณ์ต่างๆ ในภาพรวมจะปรับตัวดีขึ้น ผลจากการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่มีความชัดเจน การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น การผลิตภาคเกษตรกรรมขยายตัวต่อเนื่อง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 70.1 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน
เมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศของ SMEs พบว่า การส่งออกของ SMEs ในช่วง 8 เดือนแรกของปี (มกราคม-สิงหาคม) มีมูลค่ารวม 1,282,557 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน9.11% และคิดเป็นสัดส่วน 26.47 %ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่เดือนสิงหาคม การส่งออกของ SMEs มีมูลค่า 144,934 ล้านบาท หดตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 7.80% และ 14.9 %ตามลำดับ
ส่วนการนำเข้าของ SMEs ช่วง 8 เดือนแรกของปี มีมูลค่า 1,421,510 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.13% และคิดเป็น 29.06% ของการนำเข้ารวม โดยเดือนสิงหาคม การนำเข้าของ SMEs มีมูลค่า 161,690 ล้านบาท หดตัวลงจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาและเดือนเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 12.98% และ 12.58%
กิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ช่วง 8 เดือนแรกของปี (มกราคม-สิงหาคม) พบว่า มีจำนวน 40,262 ราย หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 18.02% โดยเดือนสิงหาคมมีกิจการจัดตั้งใหม่ 5,204 ราย หดตัวลงจากเดือนกรกฎาคม และช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 6.9% และ 17.8 %ตามลำดับ กิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ภัตตาคาร ร้านอาหาร ขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์ และอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย
การจดทะเบียนยกเลิกกิจการ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี มี 8,563 ราย เพิ่มขึ้น 6.51% ขณะที่เดือนสิงหาคมมีการยกเลิกกิจการรวม 1,236 ราย หดตัวลงจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 16.3 %และ 0.9 %ตามลำดับประเภทกิจการที่มีการยกเลิกมากที่สุด ได้แก่ ก่อสร้างที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย การขายสลากกินแบ่ง อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย
อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (เดือน ตุลาคม-ธันวาคม 2557) ทั้งการสร้างงาน และการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยวงเงิน 3.24 แสนล้านบาทจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ให้มีทิศทางดีขึ้น