- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 29 April 2020 22:24
- Hits: 5652
ก.อุตฯ ชูหน้ากากผ้าทุกชิ้นมีคุณภาพผ่านการตรวจรับรอง ย้ำประชาชนมั่นใจป้องกันละอองสารคัดหลั่งได้อย่างแน่นอน
กระทรวงอุตสาหกรรม ลุยต่อเร่งจัดส่งหน้ากากอนามัยชนิดผ้าล็อต 2 ภายหลังดำเนินการแล้วเสร็จจัดส่งตามทะเบียนบ้านสำหรับครัวเรือนที่มีรายชื่อตามทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานคร พร้อมแจงชัด “กระทรวงฯ ผลิตหน้ากากผ้าคุณภาพ ผ่านการตรวจรับรองมีผลห้องทดลองยืนยันใช้งานได้จริง ป้องกันละอองสารคัดหลั่งได้” ให้ประชาชนมั่นใจคุ้มค่างบประมาณ 67 ล้านบาทอย่างแน่นอน
นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับและบริหารโครงการผลิตหน้ากากผ้าเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยและป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลภาคอุตสาหกรรม จัดทำหน้ากากผ้า จำนวน 10 ล้านชิ้น เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนแบ่งออก 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ 1 กรุงเทพมหานคร จำนวน 5,450,000 ชิ้น จัดส่งโดยไปรษณีย์ไทย ตามข้อมูลทะเบียนบ้านครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานคร ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตามบัญชีรายชื่อในทะเบียนบ้าน 1 คนต่อ 1 ชิ้น ซึ่งมุ่งเน้นให้มีการดำเนินการจัดส่งให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
โดยได้ประสานงานใกล้ชิดกับผู้ผลิตและผู้จัดส่งหน้ากากคือไปรษณีย์ไทยให้ผลิตและจัดส่งให้เป็นไปตามแผนงาน โดยผู้ผลิตจะส่งหน้ากากทั้งหมดให้กระทรวงอุตสาหกรรมภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ส่วนการจัดส่งได้มีการหารือกับไปรษณีย์ไทยเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานและเร่งจัดส่งให้แก่ผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านมากกว่า 1 รายอย่างเร่งด่วนเป็นลำดับถัดไป ขอให้ประชาชนมั่น ใจได้รับหน้ากากผ้าทันเวลาตามจำนวนในทะเบียนราษฎรแน่นอน สำหรับ กลุ่มที่ 2 ปริมณฑล และพื้นที่เสี่ยง จำนวน 2,500,000 ชิ้น มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัด ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด แจกจ่ายประชาชนในพื้นที่ และกลุ่มที่ 3 เจ้าหน้าที่/พนักงานกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ จำนวน 2,050,000 ชิ้น
ทั้งนี้ ต้นทุนในการผลิตหน้ากากผ้ากระทรวงอุตสาหกรรม มีต้นทุนของหน้ากากผ้าอยู่ที่ 6.08 บาท/ชิ้น และค่าบริหารจัดการของไปรษณีย์ไทยแบบพัสดุ EMS 7 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองส่วนสูงกว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรร โดยต้นทุนในส่วนหน้ากากผ้า (ต่อชิ้น) ประกอบด้วย หมวดวัตถุดิบหลัก ได้แก่ ต้นทุนผ้าที่เป็นไปคุณสมบัติตามเกณฑ์สถาบันสิ่งทอ พร้อมค่ายางยืดหู 2 ข้าง หมวดการผลิต ได้แก่ ค่าแรงตัด เย็บ และ QC หมวดบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ค่าซอง การพิมพ์และแพ็คสินค้าหมวดทดสอบ ได้แก่ ค่าตรวจสอบคุณสมบัติของผ้าก่อนผลิต ค่าตรวจสอบหน้ากากผ้าหลังผลิตเสร็จตามจำนวนล็อตที่มีการส่งมอบ และหมวดขนส่งถึงจุดที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด
นอกจากนี้ เรื่องของคุณภาพมาตรฐานของหน้ากากผ้าที่ผลิตโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ก็นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวง ฯ มีความใส่ใจและเน้นย้ำในกระบวนการผลิตโดยเน้นที่ความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก โดยคุณลักษณะของผ้าและหน้ากากผ้าเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ข้อแนะนำคุณลักษณะผ้าที่ใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ได้กำหนดคุณลักษณะผ้า และคุณลักษณะด้านความปลอดภัยไว้ ซึ่งผ้าที่นำมาใช้ทำหน้ากากผ้าทุกชิ้นได้ผ่านการตรวจรับรองการทดสอบคุณสมบัติ ทางกายภาพและคุณลักษณะด้านความปลอดภัยจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
ทั้งก่อนและหลังผลิตหน้ากากผ้า ซึ่งจะต้องมีลักษณะทั่วไป คือ สะอาด ไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ไม่มีลายพิมพ์ อ่อนนุ่มต่อผิวสัมผัส และไม่เกิดการระคายเคือง มีน้ำหนักต่อหน่วยพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 80 กรัมต่อตารางเมตร และไม่เกิน 220 กรัมต่อตารางเมตร (หากเกิน จะส่งผลให้หายใจได้ลำบาก) ผ่านการทดสอบคุณลักษณะด้านความปลอดภัย ไม่มีสารพิษตกค้าง โดยการทดสอบสีเอโซ และปริมาณฟอร์แมลดีไฮด์ ซึ่งหน้ากากผ้าจะมีการตัดเย็บแบบ 2 ชั้น มีการทดสอบการผ่านได้ของอากาศ (Air Permeability) (ต้องไม่เกิน 50 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อตารางเซนติเมตรต่อวินาที) และความหนาต้องไม่น้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร จึงขอให้มั่นใจว่า “สามารถใช้เพื่อป้องกันละอองสารคัดหลั่ง จากการไอหรือจาม (ขนาด 5 ไมครอน) และใช้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ในการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปได้”
ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดได้รับหน้ากากอนามัยไม่ครบถ้วนตามจำนวนรายชื่อในทะเบียนบ้าน หรือมีความประสงค์ตรวจสอบสิทธิ์ และสถานะการจัดส่ง หรือหากมีความจำเป็นต้องการหน้ากากเพิ่มเติม สามารถติดต่อแจ้งเรื่อง ได้ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านทางเว็บไซต์ www.industry.go.th และ www.หน้ากากไทยต้านโควิด.com หรือสามารถติดต่อแจ้งปัญหาได้ทางเบอร์โทรศัพท์ 02-202 3737 หรือติดต่อผ่านช่องทางศูนย์บริการสถานการณ์วิกฤต กระทรวงอุตสาหกรรม (Crisis Management Center) โดยขอให้มั่นใจว่ากระทรวงฯ จะเร่งผลิตและแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ กทม. ตามทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง ให้ครบถ้วน อย่างรวดเร็ว สำหรับประชาชนที่มีความต้องการหน้ากากเพิ่มเติม กระทรวงอุตสาหกรรมจะได้จัดสรรให้ตามความจำเป็นอย่าง เหมาะสมต่อไป
ก.แรงงาน ช่วยสภากาชาดไทย ผลิตหน้ากากผ้า
ก.แรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ระดมหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ ร่วมกับสภากาชาดไทย ผลิตหน้ากากผ้าจำนวน 100,000 อัน กำหนดส่งมอบปลายเดือนเมษายนนี้ เพื่อแจกประชาชนป้องกันโควิด - 19
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ร่วมกับสภากาชาดไทย ผลิตหน้ากากผ้า จำนวน 100,000 อัน เพื่อนำไปมอบแก่ประชาชนป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 โดยสภากาชาดไทย ได้มอบผ้าสาลูจำนวน 67 ม้วน ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัดตั้งอยู่ในภูมิภาค มีความพร้อมทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ จักรเย็บผ้าและบุคลากร รวมถึงมีเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานกระจายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้น กพร.จึงจัดสรรผ้าสาลูให้กับหน่วยงานในสังกัดที่ตั้งอยู่ภูมิภาคเป็นผู้ดำเนินการตัดเย็บ กำหนดส่งมอบหน้ากากผ้าให้แก่สภากาชาดไทยปลายเดือนเมษายน 2563
ปัจจุบัน ได้รับรายงานว่า สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัด ได้เร่งตัดเย็บหน้ากากผ้าตามแบบที่สภากาชาดไทยกำหนด เช่น นครราชสีมา ภูเก็ต เชียงใหม่ พิษณุโลก ระยอง กรุงเทพมหานคร สุโขทัย ชุมพร นนทบุรี ระนองและหนองบัวลำภู เป็นต้น โดยสพร.แต่ละหน่วยจัดทำหน้ากากผ้าจำนวน 4,500 อัน และสนพ.จัดทำหน่วยงานละ 1,500 อัน เพื่อให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ และส่งมอบให้แก่สภากาชาดไทยนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อไป
“การผลิตหน้ากากผ้าในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานและเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน อาสามาร่วมตัดเย็บในครั้งนี้ เพื่อมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19” อธิบดี กพร.กล่าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web