- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 15 October 2014 00:08
- Hits: 3001
สำนักคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.): สุพรรณ นาลาด ชาวไร่อ้อยผู้พิชิต 3 รางวัลจาก สอน.
บ้านเมือง : สิ่งที่ยืนยันความสำเร็จในการประกอบอาชีพชาวไร่อ้อย นอกเหนือจากความสำเร็จในการปลูกอ้อยแล้ว การได้รับการยกย่องจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้เป็นชาวไร่อ้อยดีเด่น ก็เป็นอีกความใฝ่ฝันของนักปลูกอ้อยทั่วประเทศด้วยเช่นกัน
ดังนั้น สำหรับคุณสุพรรณ นาลาด ชาวไร้อ้อยจากอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ผู้รับรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่น ประจำปี 2557 จากกระทรวงอุตสาหกรรม ถึง 3 รางวัล (ชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพดีเด่น, รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อยที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, รางวัลชาวไร่อ้อยพึ่งพาตนเอง) อาจเรียกได้ว่าเกินความคาดหวัง
เมื่อปี พ.ศ. 2535 โรงงานน้ำตาลพิมาย เริ่มเปิดหีบอ้อย คุณสุพรรณจึงตกลงใจที่จะแบ่งผืนนา 10 ไร่จาก 26 ไร่มาปลูกอ้อยในปีต่อมา โดยในช่วงปีแรกของการทำแม้จะไม่หวานนัก แต่ด้วยความเป็นความมุ่งมั่นและตั้งใจ บวกกับนิสัยที่ชอบใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ จึงทำให้ได้ผลผลิตอ้อยในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ
"การทำไร่อ้อยในช่วงแรกนั้น ผมใช้แรงงานเป็นหลัก ไม่มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์มาช่วยเท่าไหร่ อาศัยทำตามเพื่อนบ้านที่เขาปลูกมาก่อนเรา ทำให้ได้อ้อยส่งโรงงานพิมายไร่ละไม่ถึง 10 ตัน แต่ยิ่งทำผมก็ยิ่งมั่นใจ เพราะนอกจากประสบการณ์ที่ได้จากการทำแล้ว ผมยังมีความรู้ที่ได้จากการไปอบรมตามหน่วยงานหรือโรงงาน ที่สามารถนำมาทดลองทำกับไร่ของเราได้ทุกปี ยิ่งทำผลผลิตก็ยิ่งมากขึ้น"
และประเด็นสำคัญที่ทำให้คุณสุพรรณ กวาดถึง 3 รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่น ของ สอน. ภายในปีเดียวนั้น คือเทคนิควิธีการต่างๆ ที่นำมาใช้ในไร่อ้อยของคุณสุพรรณนั้น เกือบทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ตั้งแต่การเตรียมดินก่อนปลูกอ้อยใหม่ ที่จะมีการปลูกปอเทืองก่อนไถกลบเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด การใช้พันธุ์อ้อยในการปลูกจะมีการคัดเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและเหมาะสมกับพื้นที่รวมทั้งมีการจัดเตรียมแปลงพันธุ์ขึ้นมาเองจึงช่วยลดปัญหาเรื่องโรคและแมลง การทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้เองซึ่งจะช่วยประหยัดค่าปุ๋ยเคมีไปกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญคือการตัดอ้อยสดและไม่เผาใบอ้อย (ไว้ใบหลังตัด) ที่ช่วยลดการระบาดของแมลงศัตรูอ้อย นอกจากนี้หากมีแมลงศัตรูอ้อยเช่น หนอนกออ้อย คุณสุพรรณ ก็จะเลือกใช้แตนเบียน มากำจัดแทนการฉีดพ่นยาที่มีทั้งต้นทุนและอาจตกค้างในไร่อ้อย
ด้วยวิธีการที่ทำได้เอง และมองจากสิ่งที่มีอยู่รอบตัว ทำให้คุณสุพรรณเลือกที่จะทำไร้อ้อยด้วยแรงคนเป็นหลัก โดยแปลงอ้อย 26 ไร่ใช้คนดูแลตลอดปีเพียง 4 คน (รวมคุณสุพรรณและภรรยา) ยกเว้นช่วงตัดอ้อยที่จะเพิ่มเป็น 6 คน เนื่องจากมีอ้อยในบริเวณผืนนาเก่าที่ไม่สามารถใช้รถตัดอ้อยได้
และจากแรงคนเพียงไม่กี่คน ปรากฏว่าฤดูการผลิตที่ผ่านมา (2556/57) ไร่ของคุณสุพรรณได้ผลผลิตอ้อยถึง 449 ตัน หรือเฉลี่ยสูงถึง 17 ตันต่อไร่ มีค่าความหวานเฉลี่ย 12 ซี.ซี.เอส (ค่าผลผลิตอ้อยของไทยในปีนั้นอยู่ที่ 11 ตันต่อไร่ และมีค่าความหวานเฉลี่ยที่ 10-11 ซี.ซี.เอส.) ซึ่งเมื่อคำนวณกับต้นทุนที่ต่ำกว่าการทำไร่อ้อยโดยทั่วไปแล้ว คุณสุพรรณจึงมีกำไรจากการปลูกอ้อยเป็นหลักแสนบาทต่อปี
"กำไรที่ได้มานอกจากจะเก็บเป็นทุนการศึกษาให้ลูกแล้ว ยังทำให้ผมมีรถไถ มีรถอีแต๋น เพื่อที่จะทำให้ผมสามารถปลูกอ้อยและส่งอ้อยได้มากขึ้น เพราะผมไปซื้อที่มาเพิ่มอีก 5 ไร่สำหรับปลูกอ้อยในปีหน้าแล้วครับ"
สำหรับรางวัลที่ได้รับจากทาง สอน. นั้น คุณสุพรรณ บอกว่าถือเป็นความภาคภูมิใจของตนเองและครอบครัวที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ และอยากจะบอกกับเพื่อนๆ ชาวไร่อ้อยว่า การปลูกอ้อยแม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากตั้งใจจริงและทำจริง ก็สามารถเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างแน่นอน