- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 15 October 2014 00:03
- Hits: 2896
อุตฯอ้างศก.ชะลอตัวปี 57 จ่ายโบนัสน้อย ค้ารายย่อยแย่ยอดขายตก
แนวหน้า : ภาคอุคสาหกรรมส่งสัญญาณจ่ายโบนัสปี 57 ต่ำกว่าปีก่อน อ้างยอดขายวูบ ส่งออกชะลอตัว ลุ้นปี 58 ฟื้นหลังภาครัฐทุ่ม4 แสนล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านผู้ค้ารายย่อยโอดยอดขายตก เหตุกำลังซื้อผู้บริโภคระดับล่างหดตัว แนะรัฐบาลปรับเปลี่ยนวิธีค้าขายใหม่
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการพิจารณาจ่ายโบนัสสิ้นปี และการปรับขึ้นเงินของโรงงานภาคอุตสาหกรรมปี 2557 โดยภาพรวมเฉลี่ยจะลดต่ำลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวจากทั้งการบริโภคภายในประเทศที่ถดถอยและการส่งออกที่มีโอกาสติดลบ0.8-1% แต่การจ้างงานแรงงานในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นสวนทางเนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเติบโต 4.5-5%
“การจ่ายโบนัสปีนี้คงไม่ดีเพราะภาคการผลิตมียอดขายโดยรวมลดจากทั้งการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ฯลฯโดยการบริโภคที่ผ่านมายังฟื้นตัวไม่ดีเท่าที่ควร แต่ช่วงนี้เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแล้วซึ่งคาดว่าคนเริ่มเชื่อมั่นมากขึ้นและใกล้เทศกาลปีใหม่ ขณะที่ส่งออกคงต้องดูตัวเลขเดือนกันยายนนี้ก่อนก็จะประเมินได้ว่าทั้งปีจะติดลบเท่าใดแน่ซึ่งหากส่งออกได้น้อยกว่าเดือนสิงหาคมทั้งปีก็มีโอกาสเห็นติดลบมากกว่า 1%“นายวัลลภกล่าว
สำหรับ ความต้องการแรงงานเข้าสู่ระบบภาคอุตสาหกรรมไม่รวมภาคบริการและการท่องเที่ยวคาดว่าอย่างต่ำปี 2558-2560 จะมีความต้องการเพิ่มไม่น้อยกว่า 2 แสนคนโดยพิจารณาจากตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่คาดว่าปี 2557 น่าจะเห็นระดับมูลค่าที่ขอรับส่งเสริม 7 แสนล้านบาท ประกอบกับรัฐบาลได้พิจารณาเร่งจ่ายงบประมาณปี 2558 จำนวน 4 แสนล้านบาทโดยให้เร่งเบิกจ่ายตั้งแต่สิ้นปีนี้ก่อน ขณะเดียวกันมองว่าการท่องเที่ยวปี 2558 ก็จะฟื้นตัว ประกอบกับการค้าชายแดนน่าจะขยายตัวเพิ่มจากการเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC
“แต่ยังมีความเป็นห่วงแรงงานภาคอุตสาหกรรมที่จบใหม่ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานโดยเฉพาะที่ไม่ใช่สายวิชาชีพที่มีนับแสนคนอาจจะมีปัญหาว่างงานได้ แต่หากไม่เลือกงานก็เชื่อว่าไม่ตกงานเพราะภาคอุตสาหกรรมเองหากเลือกได้ก็อยากได้คนไทยก่อนอยู่แล้ว “นายวัลลภกล่าว
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานส.อ.ท.ในฐานะโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ส.อ.ท.กล่าวว่า เดือนพฤศจิกายนนี้คาดว่าผู้ประกอบการรถยนต์คงจะมาประเมินทิศยอดขายในปีนี้และแนวโน้มปี2558 ก่อนที่จะตัดสินใจจ่ายโบนัสให้กับพนักงานของแต่ละค่ายโดยยอมรับว่าปีที่ผ่านมาโบนัสของกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์จัดเป็นกลุ่มที่จ่ายติดอันดับสูงสุด
“ภาพรวมคงไม่เท่ากับปีที่แล้วแต่ละค่ายก็อาจจะต่างกันไปคงตอบยากขอคุยภาพรวมแต่ละค่ายก่อนโดยยอมรับว่ายอดขายในประเทศปีนี้มีแนวโน้มว่าจะไม่ถึง 1 ล้านคันเพราะการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงสิ้นปียังมีไม่มากพอ ประกอบกับราคาพืขผลทางการเกษตรภาพรวมตกต่ำ”นายสุรพงษ์กล่าว
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทยกล่าวถึงสถานการณ์การค้าของกลุ่มผู้ค้ารายย่อยในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างแย่ เพราะผู้ค้ารายย่อยต้องพึ่งพาผู้บริโภคในระดับล่าง ซึ่งปัจจุบันกำลังซื้อของกลุ่มดังกล่าวหดตัว เหตุจากผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ขายไม่ได้ราคา ส่งผลให้มีผลกระทบกันมาต่อเนื่อง แต่ก็คาดว่าในไตรมาสสุดท้ายโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ การค้าขายจะขยับขึ้นมาดีได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นดีมาก เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี
ขณะเดียวกันภาคการค้าของประเทศไทย ทั้งระบบยังอ่อนแออยู่มาก เพราะการบริหารการค้าของไทยยังต้องอาศัยผู้อื่นค่อนข้างมากทั้งยังไม่มีการบริหารจัดการสต็อก ไม่มีวิธีการแลกเปลี่ยนการค้าขาย การเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็อาศัยการส่งออกมานาน เมื่อเศรษฐกิจโลกแย่คำสั่งซื้อจากคู่ค้าไม่มี เศรษฐกิจไทยก็แย่ตามไปด้วย
“ไทยเป็นประเทศที่ปลูกเก่ง แต่ไม่เก่งในการค้าขาย อีกทั้งเรายังไม่มีหน่วยงานที่ขายเก่งๆ ในสังคม การแก้ปัญหาของหน่วยงานที่มีอยู่ก็มักวนเวียนอยู่กับการให้ความสำคัญกับโครงการประชานิยม การชดเชยราคามากเกินไป ซึ่งมันไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทาง ในการทำให้กำลังซื้อกลับมา”
ทั้งนี้ มองว่า หน่วยงานรัฐบาลควรมีการพัฒนากลไกระบบการบริหารงานการค้าขายของภาครัฐใหม่ ควรออกจากวิธีการและความคิดเดิมๆ ภาครัฐควรรู้จักการค้าขายให้มากขึ้น ให้รู้จักว่าว่าสต็อกเป็นอย่างไร ควรบริหารจัดการอย่างไร เพราะหากภาครัฐยังทำงานแบบเดิม ทำอะไรที่ดีกว่าเดิมไม่ได้ การคาดหวังให้ประชาชนปรับเปลี่ยนเพียงฝ่ายเดียวก็แก้ไขไม่ได้ทั้งหมด และจะทำให้การค้าขาย และเศรษฐกิจไทยยังวนเวียนอยู่ในวัฏจักรเดิมเหมือน 10 ปีที่ผ่านมา
สำหรับ ปีหน้ามองว่าการค้าขายของไทยคงไม่ต่างจากในปีนี้นักเพราะหากการบริหารจัดการแบบเดิม ไม่มีการดูถึงเหตุ ปัจจัยต้นเรื่องที่ทำให้การค้าขายแย่กำลังซื้อตกต่ำ เช่น การดูแลพื้นที่เพาะปลูก การพัฒนาตัวสินค้าให้ดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว ก็เชื่อว่าการค้าคงไม่มีอะไรดีขึ้นจากที่ผ่านๆมา
ในส่วนของการขึ้นราคาของก๊าซแอลพีจี และเอ็นจีวีภาคขนส่งนั้นผู้ค้ารายย่อยไม่ได้รับผลกระทบ แต่น่าจะเป็นผู้ผลิตมากกว่าซึ่งเป็นผู้รับภาระการขนส่ง แต่ท้ายที่สุดแล้วคงไม่พ้นการผลักภาระไปที่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นด่านสุดท้าย อย่างไรก็ตามมองว่าในช่วงนี้ผู้ผลิตคงไม่ปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะเศรษฐกิจไม่ดี การปรับขึ้นราคาไม่เป็นผลดีต่อตัวผู้ผลิตเองเพราะในตลาดมีการแข่งขันกันสูง ผู้บริโภคมีทางเลือก