- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 15 October 2014 00:01
- Hits: 3022
สศอ.เผยไทยเตรียมพร้อมเป็นฐานอุตสาหกรรมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ของ AEC
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เผยผลสำเร็จผลักดันโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในช่วงปี 2555-2557 จำนวน 3 โครงการได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะสามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการให้สูงขึ้น เพื่อรองรับความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) มุ่งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมทางการแพทย์ และสุขภาพที่สำคัญของอาเซียนภายในปี 2563
นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร แต่ละโครงการมีผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง สำหรับการดำเนินงานทั้ง 3 โครงการนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งมีผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยได้ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการให้สูงขึ้น พร้อมทั้งได้รับความมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันพลาสติก และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพ ด้านการเพิ่ม Productivity และพัฒนามาตรฐาน ISO 13485 โดยได้ยกระดับผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม ทั้งด้านการบริหารจัดการและการผลิตให้กับโรงงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 42 โรงงาน และช่วยผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมในการขอรับรองมาตรฐาน ISO 13485 ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับของ AEC อีกจำนวน 117 โรงงาน
2.โครงการวิจัยพัฒนาและออกแบบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพ โดยได้เชื่อมโยงผลงานงานวิจัยที่มีของหน่วยงานต่างๆ ไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ โดยให้การส่งเสริมตั้งแต่การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การทดสอบทางคลินิกเพื่อยืนยันผลการใช้งานจริงกับผู้ป่วย หรือการพัฒนาให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล รวมทั้งสิ้น 41 โครงการ
และ 3.โครงการศึกษาวิจัยโอกาสทางธุรกิจและการเพิ่ม Value Creation สำหรับอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ดำเนินการ ได้แก่ การศึกษาผลิตภัณฑ์อุปกรณ์การแพทย์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในอนาคต และแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว, การจัดทำฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ หรือ Medical Intelligence Units เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ และใช้ในการกำหนดนโยบายของภาครัฐ และได้รวมเข้าเป็นหนึ่งในระบบฐานข้อมูลเชิงลึกของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2557, การจัดทำคู่มือแนวทางการเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในเชิงเทคนิคและวิศวกรรม สำหรับอุปกรณ์สำคัญต่างๆ
ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ในประเทศไทย และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่สำคัญของอาเซียนภายใน 63 โดยมีแนวทางที่มุ่งยกระดับศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมสูงขึ้น การยกระดับผลิตภาพการผลิต และลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากขบวนการผลิต การดำเนินการทดสอบทางคลีนิก เพื่อยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยกับผู้ใช้งาน ตลอดจนสนับสนุนการผลิตที่ได้มาตรฐานของกลุ่มประเทศชั้นนำ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของตลาดสากล อีกทั้งยังได้จัดทำฐานข้อมูลเชิงลึก เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์การดำเนินธุรกิจต่อไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
สศอ.เร่งอภิมหาเอฟทีเออาเซียน
บ้านเมือง : นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การจัดทำโครงการศึกษาเตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมไทยสำหรับการจัดทำหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคหรือ Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP จัดทำขึ้นโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา โดย RCEP เป็นกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศในภูมิภาคอีก 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่ง RCEP เป็นกรอบที่มีนัยต่อภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นอย่างมาก ทั้งการเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ มีส่วนช่วยทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศสามารถนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ ได้ในราคาที่ถูกลง และห่วงโซ่การผลิตมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้การเปิดตลาดสินค้าเป็นไปได้อย่างดียิ่งขึ้น และ RCEP ยังเป็นอภิมหาเอฟทีเอ (Mega FTA) เดียวที่รวมตลาดใหญ่อย่างจีนและอินเดีย
อย่างไรก็ตาม RCEP เป็นความตกลงเขตการค้าเสรีซ้อนความตกลงการค้า เสรีเดิมที่มีอยู่แล้ว ดังนั้น ผลประโยชน์สุทธิจึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่าสินค้าที่ยังไม่มีการเปิดเสรีในความตกลงเดิมมีมากน้อยเพียงใด และประเทศสมาชิกใน RCEP พร้อมจะเปิดมากน้อยแค่ไหน เงื่อนไขว่าการเปิดเสรีที่ผ่านมามีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด และกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดใหม่ใน RCEP ช่วยอำนวยความสะดวกในการเปิดตลาดเพิ่ม และสุดท้ายคงต้องพิจารณาการเปิดเสรีด้านอื่นๆ ที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ไทย อาทิ การเปิดเสรีทางการลงทุน เป็นต้น เพื่อให้เข้าใจถึงแนวโน้มการเจรจาในกรอบ RCEP ที่จะเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งในแง่ยุทธศาสตร์การใช้มาตรการภาษีของประเทศต่างๆ และกลยุทธ์การเปิดเสรีใน FTA ซึ่งประเทศสมาชิกต่างๆ มีกลยุทธ์การเปิดเสรีที่หลากหลายขึ้นอยู่กับมาตรการภาษีในประเทศต่างๆ
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการศึกษาในครั้งนี้ ครอบคลุมทั้งมุมมองมหภาคและการวิเคราะห์รายสาขาจำนวน 10 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป สิ่งทอและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ อัญมณี ปิโตรเคมี และเหล็ก โดยผลการศึกษาพบว่า ผลกระทบของ RCEP มีความแตกต่างจากกรอบเอฟทีเออื่นๆ คือ RCEP เป็นกรอบเอฟทีเอซ้อนกรอบเอฟทีเอเดิม ดังนั้น ผลกระทบจาก RCEP จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสาขานั้นๆ เรายังไม่มีการเปิดเสรีในกรอบเอฟทีเอก่อนหน้า และกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดใหม่ ใน RCEP ช่วยอำนวยความสะดวกในการเปิดตลาดเพิ่ม