- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 13 October 2014 19:58
- Hits: 2785
5 ปีขึ้นแท่นผู้นำอาหารฮาลาล
ไทยโพสต์ : การผลิตสินค้าอาหารฮาลาลของประเทศไทยนั้นกว่า 80% เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก โดยส่วนใหญ่เป็นอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ ซึ่งไม่ต้องผ่านกระบวนการรับรองฮาลาล หรือติดเครื่องหมายรับรองฮาลาล ผู้บริโภคมุสลิมส่วนใหญ่สามารถเลือกบริโภคได้โดยไม่ขัดหลักศาสนามากกว่า 50% อาทิ ข้าว น้ำตาลทราย ทูน่ากระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง และผลไม้สด ซึ่งในแต่ละปีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 10-20% ยกเว้นการส่งออกไก่ที่มีการขยายตัวสูงถึง 100% ล่าสุดในปี 2555 มีการส่งออกไก่สดแช่แข็งไปยังกลุ่มประเทศมุสลิมกว่า 20,600 ตัน ขณะที่การส่งออกไก่สุกแปรรูปมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แม้จะมีปริมาณการส่งออกเพียง 2,351 ตันในปี 2556 ที่ผ่านมา โดย 90% ส่งไปยังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนที่เหลือส่งไปประเทศมาเลเซีย
จากการเติบโตดังกล่าวนั้น ทำให้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกอาหารฮาลาลไปยังประเทศมุสลิมมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในปี 2556 พบว่าการส่งออกอาหารฮาลาลไทยมีมูลค่าถึง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2545-2550 ที่มีการส่งออกเฉลี่ยปีละ 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตลาดส่งออกหลักของไทยกระจายอยู่ใน 3 กลุ่มประเทศคือ แอฟริกา มีสัดส่วนการส่งออก 37.7%, ตะวันออกกลาง 24.8% และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน 33.6% ส่วนที่เหลืออีก 4% เป็นตลาดในเอเชียใต้ ยุโรป และเอเชียกลาง
ดังนั้น ในการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพื่อเพิ่มศักยภาพให้มีความสามารถในการเจาะเข้าสู่ตลาดได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง นายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดการยกระดับสินค้าอาหารฮาลาลไปสู่ระดับสากล
"ปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมวัตถุดิบในการเป็นฐานผลิตอาหาร จากพื้นที่ผลิตทั้งเกษตรและปศุสัตว์นั้น ศักยภาพด้านอาหารไทยสูงกว่าคู่แข่งในอาเซียน โดยเฉพาะมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ติดปัญหาในเรื่องการยอมรับในหลักศาสนา" นายอุฤทธิ์กล่าว
นายอุฤทธิ์ กล่าวว่า สมอ.จึงได้ร่วมกับสถาบันอาหาร ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการด้านการให้คำปรึกษาระบบคุณภาพ ได้มีนโยบายผลักดันให้มีการยกระดับมาตรฐานของอาหาร โดยเฉพาะมาตรฐานฮาลาล ซึ่งได้รับความร่วมมือกับสำนักจุฬาราชมนตรี ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในประเทศไทยเติบโตได้มากกว่าเดิม พร้อมทั้งได้รับมาตรฐาน GMP หรือ Good Manufacturing Practice ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร ที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานมาตรฐานอาหาร
ระหว่างประเทศ หรือโคเด็กซ์ (CODEX) เพื่อให้สมาชิกทั่วโลกใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และมาตรฐาน HACCP หรือ Hazard Analysis Critical Control Point เป็นมาตรฐานการผลิต ที่มีมาตรการป้องกันอันตรายที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลก
"แต่เดิมนั้นการเข้าไปเกี่ยวข้องยากมาก แต่หลังจากที่ได้หารือและทำความเข้าใจกับผู้นำทางศาสนา ว่าสิ่งที่เข้าไปนั้นจะไปช่วยเหลือผลักดัน พร้อมทั้งได้จัดสรรงบประมาณในช่วง 3 ปี (2556-2558) ไว้ 100 ล้านบาท เพื่อดำเนินการอบรมและสร้างองค์ความรู้กับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และระดับจังหวัดผู้รับผิดชอบโดยตรง เพื่อเป็นผู้แทนเข้าไปตรวจรับรองฮาลาล
นอกจากนี้ ได้จัดทำคู่มือการตรวจรับรองฮาลาล โดยนำระบบการตรวจรับรองที่เป็นมาตรฐานสากลมาประยุกต์ให้กับมาตรฐานฮาลาล ได้แก่ การกำหนดขอบข่าย คำจำกัดความ แนวทางการปฏิบัติในการตรวจรับรอง รวมทั้งการออกใบรับรอง ซึ่งทั้งหมดได้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจและรับผิดชอบด้านกิจการฮาลาลโดยตรง" นายอุฤทธิ์ กล่าวอย่างไรก็ตาม นับจากเปิดโครงการมา ปัจจุบันมีบุคลากรที่เข้าร่วมอบรมแล้ว 160 คนทั่วประเทศ และเพิ่มเป็น 240 คน ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวเป็นการพัฒนาระบบการตรวจรับรองของหน่วยรับรองฮาลาล ให้หน่วยตรวจที่มีมาตรฐานและมีระบบการตรวจรับรองที่เป็นสากล และเป็นที่ยอมรับระดับสากล การยื่นขอเพื่อเข้าโครงการรับรองมาตรฐานฮาลาล และ HACCP และ GMP สามารถยื่นขอในจังหวัดนำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลาม กรุงเทพฯ และสำนักงานคณะกรรมการกลางประจำจังหวัด ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ เพชรบุรี และสงขลา
อย่างไรก็ตาม นายอุฤทธิ์กล่าวย้ำว่า จุดมุ่งหมายของการผลักดันเพื่อให้อาหารฮาลาลของไทยก้าวสู่เวทีโลกและเป็นผู้นำในด้านการผลิตเพื่อการส่งออกของเอเชีย