- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 25 December 2019 17:00
- Hits: 3541
กนอ. โชว์ผลประกอบการปี 62
สร้างเม็ดเงินลงทุนรวมทะลุ 3 หมื่น ลบ. จ้างงานเข้าระบบเพิ่มกว่า 5,500 คน
พร้อมดันยอดขาย/เช่าในอีอีซี พุ่งเกือบเท่าตัว จากการเซ็นสัญญาโครงสร้างพื้นฐาน
ตอกย้ำให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่มีต่อความคืบหน้าและชัดเจนของโครงการ
“กนอ.” โชว์ผลงานเด่น ปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.2561-ก.ย.2562) ยอดขาย/เช่าที่ดินนิคมฯ 2,183.6 ไร่ เทียบกับปีงบประมาณ 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 ดึงเม็ดเงินลงทุน 30,527.54 ล้านบาท โดยเฉพาะยอดขาย/เช่าในอีอีซี เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากแรงหนุนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่มีความคืบหน้าและชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งการเซ็นสัญญาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) และรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและจริงจัง กอปรกับสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา ที่กระตุ้นให้นักลงทุนจีนตัดสินใจลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น และไทยถือเป็นประเทศเป้าหมาย ล้วนเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยผลประกอบการ กนอ. ในปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561-กันยายน 2562) ว่า ภาพรวมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.บริหารงานเอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับภาคเอกชน จำนวน 59 นิคมอุตสาหกรรม และ 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม ในพื้นที่ 16 จังหวัด ทั่วประเทศ และมีนิคมอุตสาหกรรมที่เซ็นสัญญาในปีงบประมาณ 2562 จำนวน 1 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) เป็นผลให้มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 175,939 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับขาย/เช่า ประมาณ 110,558 ไร่ และพื้นที่ขาย/เช่า สะสม ประมาณ 88,906 ไร่ และมีพื้นที่คงเหลือ 21,652 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนในภาพรวมประมาณ 4 ล้านล้านบาท มีโรงงาน 5,875 แห่ง และมีจ้างงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 500,000 คน
ทั้งนี้ จากนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่รัฐบาลมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่ในการรองรับการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 พบว่าจากการเซ็นสัญญาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นเมกะโปรเจกต์ ทั้งท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นอย่างมาก ทำให้นักลงทุนตัดสินใจซื้อที่ดินในนิคมฯ เพื่อลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากผลประกอบการของ กนอ.ในปีงบประมาณ 2562 มีมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 30,527.54 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 5,512 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งมีการจ้างงาน 3,446 คน และมียอดขาย/เช่าที่ดินเพิ่มขึ้น 807 ไร่ จาก 1,376 ไร่ เป็น 2,183 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 59 โดยในจำนวนดังกล่าว แบ่งเป็นพื้นที่ อีอีซี จำนวน 1,964 ไร่ นอกพื้นที่อีอีซี จำนวน 219.85 ไร่ ซึ่งในพื้นที่อีอีซี มียอดขาย/เช่าที่ดินเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2561 ถึงร้อยละ 98
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ที่ให้ความสนใจลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ 2.อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 3.อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 4.อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ 5.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ โดยประเทศที่มาลงทุนในนิคมฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับของ กนอ.มีศักยภาพที่พร้อมรองรับการลงทุนอย่างเต็มที่ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ครบถ้วน ขณะเดียวกัน กนอ.ยังให้ความสำคัญในด้านการบริการนักลงทุนแบบครบวงจรเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการติดต่อกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการขอใบอนุมัติ และใบอนุญาต ผ่านศูนย์ให้บริการของ กนอ.Total Solution Center (TSC) โดยศูนย์บริการดังกล่าวจะให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่ง
“การที่รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน และโครงการอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นความชัดเจนเป็นรูปธรรม รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่รัฐมุ่งส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง S-Curve และ New S-Curve ตลอดจนยังมีปัจจัยบวกจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่ทำให้ทุนจีนเคลื่อนย้ายเม็ดเงินมาลงทุนในไทยมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขาย/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ปีงบประมาณ 2562 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2561 ถึงร้อยละ 59 ก็ตาม” นางสาวสมจิณณ์กล่าว
“สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 ถือว่ามีแนวโน้มที่ดี เพราะมีปัจจัยบวกที่ส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น จากการที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนทั้งสิทธิประโยชนด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี และการเร่งขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือฯ มาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการท่าเรือฯ แหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาเมืองการบินและสนามบินอู่ตะเภา ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดการลงทุนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมการลงทุนในปีงบประมาณ 2563 มีทิศทางการเติบโตได้อย่างแน่นอน แม้สภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว ค่าเงินบาทแข็งค่า สหรัฐฯ ระงับสิทธิ์ GSP ไทย รวมถึงสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีข้อยุติ จะทำให้นักลงทุนพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนเพื่อขยายกิจการหรือตั้งโรงงานใหม่ของผู้ประกอบการรายเดิมด้วยเช่นกัน โดยในส่วนของ กนอ.ได้มีมาตรการที่รอบคอบ และรัดกุม ในการเฝ้าติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นให้ทันท่วงที” นางสาวสมจิณณ์ กล่าวปิดท้าย
AO12532
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web