- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 06 October 2014 23:48
- Hits: 2861
สวท.หนุนตั้ง'สภาเอสเอ็มอี' ชี้รายย่อย 2.4 ล้านรายได้ประโยชน์
แนวหน้า : นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สวท.) เปิดเผยภายหลังการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ในการเข้าพบนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อที่จะหารือในการตั้งสภาเอสเอ็มอี โดยในขณะนี้ ได้จัดตั้งสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเงินงานให้มีพระราชบัญญัติรองรับ จึงได้เข้าพบ รมว.อุตสาหกรรม ให้ช่วยผลักดันในเรื่องนี้ ซึ่ง รมว.อุตสาหกรรมก็เห็นชอบในเรื่องการผลักดัน พ.ร.บ.สภาเอสเอ็มอีนี้ หลังจากนี้ สวท. ก็จะผลักดันผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
โดย สวท.เกิดจากการรวมตัวของภาคีเครือข่ายสมาคม ชมรมมูลนิธิ กลุ่มอุตสาหกรรม สหกรณ์ และผู้ประกอบการโอท็อป ซึ่งล่าสุด เครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมกับ สวท. แล้ว 12 กลุ่ม มีสมาชิกรวมกันกว่า 2.19 แสนราย ทั้งนี้ การจัดตั้ง สวท.ก็เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของเอสเอ็มอี ให้หน่วยงานรัฐได้นำไปพัฒนาแนวทางความช่วยเหลือและสนับสนุนเอสเอ็มอี
"ขอยืนยันว่า สวท. ทำงานไม่ซ้ำซ้อนกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เนื่องจาก สวท. ประกอบด้วยผู้ประกอบกาเอสเอ็มอีทุกสาขาอาชีพโดยไม่จำกัดทุนจดทะเบียน ตั้งแต่รายย่อย เช่น ร้านเสริมสวย ร้านค้าห้องแถว ไปจนถึงผู้ประกอบการขนาดกลาง ดังนั้นจึงทำให้ สวท.เป็นกระบอกเสียงของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่อย่างแท้จริง" นางเพ็ญทิพย์ กล่าว
ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 2.79 ล้านราย แต่มีเอสเอ็มอีที่เข้าระบบเพียง 3.9 แสนราย ทำให้เหลือผู้ประกอบการถึง 2.4 ล้านรายที่อยู่นอกระบบ ซึ่งหากนำเอสเอ็มอีกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบได้ ก็จะสร้างรายได้เข้าประเทศทั้งในรูปกแบบภาษี และรายได้อื่นๆกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการตั้ง สวท.ก็เพื่อช่วยดึงกลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ความช่วยเหลือต่างๆอย่างเต็มที่ และเมื่อธุรกิจเติบโตเข็มแข็ง ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลเป็นจำนวนมาก
ด้าน นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในเบื้องต้นเห็นด้วยกับการตั้งสภาเอสเอ็มอี แต่การออก พ.ร.บ.จะต้องทำประชาพิจารณ์ และจะต้องไม่ขัดกับกฎหมายเดิมก่อนหน้านี้ ซึ่งกฎหมายการตั้งสภาเอสเอ็มอีจะมีรูปแบบในการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแนวราบรวมกลุ่มเอสเอ็มอีทั้งหมดทุกสาขา แต่ในกฎหมายอื่นๆจะมีรูปแบบเป็นแนวตั้ง โดยในแต่ละหน่วยงานที่ดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะแยกเป็นกลุ่มต่างๆอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น ส.อ.ท. ก็มีการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคการผลิต สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ก็จะดูแลเอสเอ็มอีในธุรกิจการค้าและบริการ เป็นต้น รวมทั้งในกฎหมายตั้งหน่วยงานอื่นๆก็มีการช่วยเหลือเอสเอ็มอีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องลงไปดูในรายละเอียดว่าการออกพ.ร.บ.สภาเอสเอ็มอี จะไปขัดแย้งกับกฎหมายฉบับอื่นหรือไม่ ซึ่งควรจะเน้นในเรื่องสาระมากกว่าเรื่องรูปแบบ โดยหลังจากนี้จะส่งเรื่องไปให้ นายปราโมทย์ วิทยาสุข ว่าที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าไปดูแลเพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ